นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน เปิดเผยในการสัมมนาทดสอบความสนใจของนักลงทุนภาคเอกชน (Market Sounding Seminar) โครงการศึกษาวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน “โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล มูลค่าการลงทุนก่อสร้างกว่า 8.8 หมื่นล้านบาท “ ว่า ได้รับความสนใจจากกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่อยู่ในวงการบริหารจัดการน้ำและกลุ่มบริษัทรับเหมาชั้นนำ ตลอดจนบริษัทภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 40 รายในการเสนอความเห็นและสอบถามรายละเอียดความสนใจการร่วมลงทุนโครงการดังกล่าว
เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่จึงต้องศึกษาวิเคราะห์พร้อมรับฟังความเห็นนักลงทุนให้ครอบคลุม โดยโครงการนี้ได้มีการร่วมวางแผนดำเนินการมาประมาณ 3-4 ปี ลงพื้นที่ดูความเหมาะสมทางวิศวกรรม เชิงความคุ้มค่าการลงทุน รวมทั้งแนวทางการมีส่วนแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำภาคกลางกว่า 20 จังหวัด ทั้งนี้ยังเล็งเห็นถึงความลำบากในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ รองรับการขยายตัวของประชากรเมืองในภาคกลาง ตลอดจนความต้องการใช้น้ำในภาคการเกษตรจึงวางแผนแก้ไขปัญหาไว้ตั้งแต่วันนี้
“กรมชลประทานยืนยันว่ามีความตั้งใจแก้ไขปัญหากรณีขาดแคลนน้ำจึงนำเสนอรูปแบบการร่วมลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนโดยเชื่อว่ามีความเป็นไปได้เรื่องการลงทุนเพื่อนำทุกความเห็นไปพัฒนาให้สอดคล้องเหมาะสม โดยตามแผนปฏิบัติการจะใช้ระยะเวลาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนประมาณ 6 เดือน แล้วเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบได้ปลายปีนี้และจะเริ่มการก่อสร้างได้ในปลายปี 2566 ใช้งบปี 2567 ไปดำเนินการและใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 6 ปียืนยันว่าถ้าไม่พร้อมจะไม่ลงนามสัญญาเรื่องพื้นที่ ขณะนี้โครงการดังกล่าวผ่านการรับรองผลการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 วัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในอนาคตอีก 20 ปี และกรมชลประทานอยู่ระหว่างการเร่งผลักดันโดยตั้งงบประมาณเพื่อออกแบบรายละเอียดไว้แล้ว”
นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวรายงานว่า ได้ดำเนินการสนองนโยบายรัฐบาลด้านการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง มองแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนซึ่งเขื่อนน้ำยวมพบว่ามีปริมาณน้ำค่อนข้างมากเพียงพอที่จะนำมาป้อนให้กับเขื่อนภูมิพลได้ เป็นการเพิ่มเศรษฐกิจของพื้นที่และของประเทศได้อีกในระยะยาว เนื่องจากมูลค่าโครงการค่อนข้างสูงจึงต้องรอบคอบในการพิจารณาจึงเลือกรูปแบบการร่วมลงทุนตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุน(PPPs) ปี พ.ศ.2562 ไปดำเนินการ รูปแบบเบื้องต้นจะใช้รูปแบบ PPP Gross Cost
นายศุภชัย รักพานิชมณี ผู้จัดการโครงการ กล่าวเสริมว่า ตามที่มีประเด็นสอบถามยืนยันว่าแผนการจัดสรรน้ำต้องสอดคล้องกัน (แปรผันตามที่กรมฯกำหนด) จะมีการแบ่งจ่ายเงินสองก้อน คือ 1.ค่าก่อสร้าง และ 2.ค่าผันน้ำโดยจะมีค่าผันน้ำในแต่ละปี ตลอดระยะ 25 ปี บนความแฟร์และยุติธรรม ซึ่งจะมีค่าใช้ไฟฟ้าราว 3,000 ล้านบาทต่อปี
“วัตถุประสงค์ในครั้งนี้เพื่อสร้างการรับรู้ในสาระสำคัญทั้งแผนการดำเนินงาน ผลตอบแทนภายใต้การร่วมลงทุน กฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง พร้อมรับฟังข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะจากนักลงทุนเพื่อนำไปปรับปรุงร่างเอกสารประกวดราคาและข้อมูลรายละเอียดโครงการให้เหมาะสมครบถ้วนต่อไป”
ทั้งนี้ตามรายละเอียดข้อมูลโครงการระบุว่า มูลค่าการลงทุนโครงการกรณีรัฐและเอกชนร่วมลงทุน คิดเป็นค่าลงทุนและค่าใช้จ่ายโครงการทั้งหมด 170,620.37 ล้านบาท (รัฐลงทุน 8,819.39 ล้านบาท ส่วนเอกชนลงทุน 161,800.97 ล้านบาท) จำแนกเป็น 1.ค่าลงทุนก่อสร้าง 88,169.35 ล้านบาท(รัฐลงทุน 8,819.39 ล้านบาท เอกชนร่วมลงทุน 79,349.96 ล้านบาท) แบ่งเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์และสิ่งแวดล้อม 515.25 ล้านบาท ค่างานสายส่งไฟฟ้า 7,282.65 ล้านบาท ค่างานก่อสร้าง 6 ปี 74,180 ล้านบาท ค่าดำเนินงานออกแบบและควบคุมงาน 5,158.31 ล้านบาท และค่าลงทุนระยะเริ่มต้น 1,032.28 ล้านบาท 2.ค่าดำเนินงานผันน้ำ และบำรุงรักษา 82,258.76 ล้านบาท(เอกชนลงทุน) แบ่งเป็นค่าดำเนินงานผันน้ำ 25 ปี 77,864.70 ล้านบาท และ 3.ค่าบำรุงรักษา 25 ปี 4,394.06 ล้านบาท และค่าอุปกรณ์ทดแทน 192.26 ล้านบาท (เอกชนลงทุน)
ทั้งนี้หากประสบภาวะน้ำแล้งในช่วงฤดูแล้งไม่สามารถผันน้ำได้เอกชนและรัฐจะต้องมีการหารือร่วมกัน โดยรัฐมีมาตรการสนับสนุนโครงการร่วมลงทุน อาทิ มาตรการการเงินและภาษี เช่นการกำหนดกลไกการจ่ายค่าตอบแทนการดำเนินงานที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดการจูงใจเอกชนที่จะเข้าร่วมลงทุน การกำหนดมาตรการสนับสนุนให้เอกชนได้ซื้อไฟฟ้าโครงการด้วยอัตราค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม และมาตรการสนับสนุนการร่วมลงทุนในส่วนของหน่วยงานรัฐ
มาตรการที่ไม่ใช่การเงินและภาษี เช่น การอนุญาตให้เอกชนคู่สัญญาสามารถใช้สิทธิตามสัญญาเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินหรือการระดมทุน มาตรการอำนวยความสะดวกในกรณีที่ต้องการนำบุคลากรชาวต่างชาติเข้ามาร่วมปฏิบัติงานแต่ทั้งนี้ยังคงต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และมาตรการอำนวยความสะดวกในกรณีที่ต้องมีการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์เข้ามาปฏิบัติงานในโครงการเป็นการชั่วคราว
สำหรับรายละเอียดข้อมูลโครงการศึกษาวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน “โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล” พบว่า มีมูลค่าการลงทุนก่อสร้างกว่า 8.8 หมื่นล้านบาท อุโมงค์ส่งน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8.1 - 8.3 ม. ความยาวอุโมงค์ส่งน้ำ 63.46 กม. ส่วนเขื่อนน้ำยวมรูปแบบเป็นเขื่อนหินถมดาดผิวคอนกรีต ครอบคลุมพื้นที่รับน้ำ 5,886.50 ตร.กม. ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยปีละ 2,858.10 ล้านลบ.ม. ระดับความสูงเขื่อน 69.50 ม. ความจุอ่างเก็บน้ำ 68.74 ล้านลบ.ม. พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 3.32 ตร.กม. สามารถพันน้ำได้ 1,834 ลบ.ม.ต่อปี
ในส่วนผลประโยชน์ของโครงการ ตามผลการศึกษาระบุว่าด้านการเกษตรทำให้การปลูกพืชในฤดูแล้งเพิ่มพื้นที่ได้ 1.4 ล้านไร่ (หากมีการปรับปรุงการปลูกพืชในฤดูแล้งตามความเหมาะสมของดินเพื่อสร้างมูลค่าจะได้พื้นที่เพิ่มเป็น 1.6 ล้านไร่) เกษตรกรจำนวน 7 หมื่นครัวเรือนได้รับประโยชน์ ด้านการอุปโภคบริโภค จะจัดสรรน้ำเฉลี่ยปีละ 300 ล้าน ลบ.ม. (ได้รับประโยชน์กว่า 1.3 ล้านครัวเรือน) ด้านการผลิตไฟฟ้า โรงไฟฟ้าพลังน้ำของเขื่อนภูมิพลผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 426 ล้านหน่วย (ผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับประโยชน์ 1 แสนครัวเรือน) ส่วนด้านการท่องเที่ยว จะเกิดแหล่งท่องเที่ยว ได้แก่ ทะเลสาบดอยเต่า และเขื่อนน้ำยวม เป็นต้น
อนึ่งสำหรับภาคเอกชนที่แสดงความสนใจเข้าร่วมแสดงความเห็นและรับฟังรายละเอียดการร่วมลงทุนของโครงการ อาทิ กลุ่มกัลป์เอ็นเนอร์จี ,ซีเคเพาเวอร์ , ช.การช่าง, ซิโน-ไทยฯ, อิตาเลียนไทย, ซีวิลเอนจีเนียริ่ง, บริษัททรัพยากรน้ำสยาม, ทีทีดับบลิว , เนาวรัตน์พัฒนาการ, ประปานครสวรรค์, ประปาปทุมธานี, ประปาสยาม, ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง, เพาเวอร์ไลน์, ราช กรุ๊ป , ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง, วงษ์สยามก่อสร้าง, ไชน่าเอนเนอร์ยี่อินเตอร์เนชั่นแนล, บ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก เป็นต้น