คณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย ลงพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รับฟังปัญหาแหล่งน้ำตื้นเขิน เพื่อเร่งหาแนวทางแก้ไขบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน
เมื่อวันที่ 24 - 25 มีนาคม 2565 นายประมวล พงศ์ถาวราเดช ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนางสาวธนภร โสมทองแดง ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมาธิการฯ (ประธานอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะริมตลิ่งการตื้นเขินของแม่น้ำและลำคลอง) นำคณะอนุกรรมาธิการฯ ลงพื้นที่ศึกษาสภาพปัญหา และรับฟังความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะริมตลิ่ง การตื้นเขินของแม่น้ำ ลำคลอง และน้ำท่วมขัง ในพื้นที่ 3 อำเภอตอนล่างของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้แก่ อำเภอทับสะแก อำเภอบางสะพาน และอำเภอบางสะพานน้อย โดยมี ว่าที่พันตรีอดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้นำท้องถิ่น นำเสนอข้อมูลฯ
นายประมวล พงศ์ถาวราเดช ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่หลังจากได้รับการร้องทุกข์จากชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเรือประมง ว่าเมื่อถึงหน้ามรสุมปากคลองจะมีทรายพัดเข้ามาจำนวนมากจนเป็นที่งอกขนาดใหญ่ และยังทำให้คลองตื้นเขิน เป็นอุปสรรคและกีดขวางในการเข้า-ออกของเรือประมง ส่งผลกระทบกับกลุ่มผู้ประกอบการเรือประมงพื้นบ้าน ประกอบกับเมื่อถึงฤดูแล้งในพื้นที่ไม่มีพื้นที่กักเก็บน้ำไว้ให้พี่น้องเกษตรกรไว้ใช้ในการทำการเกษตร โดยอนุกรรมาธิการฯ ได้ทำการเก็บข้อมูลทั้งจากการรายงานของรองผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งข้อมูลที่ได้จากการลงไปสำรวจในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อนำมารวบรวมสภาพปัญหา ซึ่งแต่ละที่พบว่าจะมีปัญหาที่แตกต่างกัน ซึ่งในเบื้องต้นได้ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานราชการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และจะนำเสนอข้อมูลปัญหาที่พบต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาดำเนินการแก้ไขต่อไป
นายประมวลกล่าวต่ออีกว่าในเรื่องของฝายอ่างเก็บน้ำในเขตพื้นที่ 3 อำเภออำเภอบางสะพานอำเภอบางสะพานน้อยทับสะแกที่มีอยู่หลายแห่งซึ่งมีการทรุดโทรมและตื้นเขินก็จะร่วมกันบูรณาการตรวจสอบสร้างให้มีน้ำใช้ตอนภาวะหน้าฝนแล้งและหน้าฝนที่จะมีอ่างเก็บน้ำเอาไว้ให้กับเกษตรกรได้ใช้ในส่วนนี้ก็จะเร่งตรวจสอบฝ่ายชะลอน้ำให้พี่น้องเกษตรกรได้ใช้หน้าแล้งคือสิ่งที่เราจะแก้ปัญหาของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ถ้าปัญหาไม่ใหญ่ก็จะให้กรรมาธิการชุดเล็กดำเนินการแต่ถ้าหากว่าปัญหาใหญ่ก็จะเข้ากรรมาธิการชุดใหญ่ให้เข้ามาช่วยร่วมแก้ปัญหาในส่วนขณะนี้ได้มีการสร้างฝายสร้างอ่างเก็บน้ำในเขต 3 อำเภอไปกว่าครึ่งแล้วคาดว่าปี 2566 คงแล้วเสร็จบางส่วนส่วนในบางเรื่องที่ต้องรองบประมาณใหม่ก็จะเข้าสภาเพื่อขอตั้งงบประมาณให้ดำเนินการได้ให้ไวที่สุดวันนี้ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนทุกหน่วยงานที่เข้าร่วมบูรณาการให้ชุดคณะกรรมการได้เข้าดูในพื้นที่พร้อมให้ข้อมูลเป็นที่น่าพอใจส่วนไหนที่ยังไม่ได้ดำเนินการก็ขอให้ทางพื้นที่กำนันผู้ใหญ่บ้านประชุมทำประชาพิจารณ์กับประชาชนให้แล้วเสร็จนำส่งเอกสารให้หน่วยงานต่างๆที่รับผิดชอบเพื่อจะได้ดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
ทีมข่าว จ.ประจวบคีรีขันธ์