ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
พลังงาน / สิ่งแวดล้อม ย้อนกลับ
‘ไทย’ ผู้นำด้านพลังงานแห่งเอเชีย26 รางวัล ASEAN Energy Awards 2015
22 ต.ค. 2558

รางวัล ASEAN Energy Awards 2015 นับเป็นรางวัลแห่งการภาคภูมิใจของคนในวงการพลังงาน เป็นการยกย่องและแสดงความชื่นชมแก่ผู้ที่มีผลงานดีเด่นด้านการอนุรักษ์พลังงานและการพัฒนาพลังงานทดแทน อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการตื่นตัวในการอนุรักษ์พลังงานและผลักดันให้เกิดการพัฒนาพลังงานทดแทนมากยิ่งขึ้น

  ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาแวดวงพลังงานได้มีการประกาศผลรางวัล ASEAN Energy Awards 2015 ขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยในปี 2015 นี้ ประเทศไทยส่งเข้าประกวด 30 โครงการสามารถคว้ารางวัลได้ถึง 26 รางวัล จากทั้งหมด 64 รางวัล มากที่สุดใน 10 ประเทศอาเซียน ส่งผลให้ประเทศไทยยังคงครองแชมป์ในเวที ASEAN Energy Awards ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติยศ ด้านพลังงานของกลุ่มประเทศอาเซียน นอกจากนี้ในที่ประชุมรัฐมนตรีพลังงาน ครั้งที่ 33 ประเทศในประชาคมอาเซียนต่างให้ความสำคัญและตระหนักถึงการใช้พลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ตลอดจนความร่วมมือระหว่างกันในการพัฒนาพลังงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนในเวทีโลก

  ความสำเร็จครั้งนี้เป็นความสำเร็จที่ต่อยอดจากโครงการ Thailand Energy Awards ซึ่งเป็นการประกวดด้านพลังงานของประเทศไทยที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) กระทรวงพลังงานจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการไทยหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานอย่างคุ้มค่าและสร้างความแข็งแกร่งด้านพลังงานของประเทศ

  นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า ความสำเร็จต่างๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากความร่วมมือจากผู้ใช้พลังงานทุกภาคส่วนที่ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยให้ความร่วมมือ และลงมือทำอย่างต่อเนื่อง จริงจัง นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและคุณภาพของคนไทยที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน และการจัดหาพลังงานทดแทนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยยังคงเป็นผู้นำในด้านพลังงานของภูมิภาคอาเซียนต่อไป

 สำหรับตัวอย่างโครงการที่ได้รับรางวัลของประเทศไทยซึ่งมีผลงานโดดเด่นและสามารถนำไปเผยแพร่ขยายผลให้กับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี อาทิ โครงการผลิตพลังงานความร้อนร่วมจากพลังงานหมุนเวียน (Co-generation) ของ บริษัท ทิพย์สุโขทัย ไบโอเอนเนอร์ยี่ จำกัด ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ โดยเป็นการนำชานอ้อย ที่เหลือจากกระบวนการหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาล มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ โดยไฟฟ้าและไอน้ำที่ผลิตได้ส่วนใหญ่เกินกว่า 90% สามารถนำไปขายให้กับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและโรงงานน้ำตาลใกล้เคียง เพื่อใช้ในกระบวนการผลิต  โครงการมีมูลค่าการลงทุนราว 1,600 ล้านบาท แต่มีระยะเวลาคืนทุนได้ภายใน 5 ปี นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาผลิตเป็นพลังงานทั้งในรูปไฟฟ้าและความร้อน รวมทั้งช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงานในแก่โรงงานในพื้นที่ด้วย

   อีกตัวอย่างด้านพลังงานทดแทน ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ วังเพลิงโซลาร์ ของ บริษัท พัฒนาพลังงานธรรมชาติ จำกัด ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าขายเข้าระบบขนาดประมาณ 10 MW ที่ใช้เทคโนโลยีแผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบฟิล์มบางประสิทธิภาพสูง และบำรุงรักษาง่าย โดยเป็นตัวอย่างของโครงการที่สนับสนุนนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ของกระทรวงพลังงานที่สามารถดำเนินการได้จริงและ มีผลตอบแทนการลงทุนเป็นที่น่าพอใจ

  นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างโครงการด้านอนุรักษ์พลังงานที่น่าสนใจ เช่น โครงการดีเด่นด้านบริหารจัดการพลังงานของโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดียิ่งของหน่วยงานภาครัฐที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญ ในการอนุรักษ์พลังงานโดยไม่มีผลกระทบต่อคุณภาพการให้บริการภายใต้การผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่ทุกระดับ      ผ่านการสร้างจิตสำนึก รณรงค์ อบรมให้ความรู้ เพื่อค้นหาจุดรั่วไหลและการปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงาน รวมไปถึง    การเผยแพร่แนวทางผลสำเร็จที่ได้ไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ที่เป็นเครือข่ายทั้งในและนอกพื้นที่ จนทำให้เกิดการขยายผลสำเร็จต่อเนื่องได้อย่างชัดเจน

  สำหรับตัวอย่างโครงการดีเด่นด้านบริหารจัดการ พลังงานในโรงงาน ได้แก่ บริษัท มาบตาพุดโอลิฟินส์ จำกัด ซึ่งนำระบบการบำรุงรักษาแบบทวีผล (TPM) และระบบบริหารคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (TQM) มาเป็นแนวทางหลักในการบริหารจัดการด้านพลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมุ่งเน้นดำเนินการผ่านทางการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกระดับอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมทั้งมีกระบวนการจัดการและถ่ายทอดองค์ความรู้ ด้านพลังงานที่เป็นระบบ จนทำให้มีการดำเนินมาตรการประหยัดพลังงานได้ถึง 16 มาตรการ ในช่วงปี 2555 -2557 และเกิดผลประหยัดพลังงานได้มากถึง 340 ล้านบาท จากเงินลงทุนเพียง 35 ล้านบาท

นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้คว้าอีก 4 รางวัล ในการผลิตไฟฟ้าด้วยการใช้ถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด และการใส่ใจสังคมและชุมชน โดยนายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ได้รับรางวัล ASEAN Coal Awards 2015 ทั้งในประเภทการดำเนินงานของเหมืองและโรงไฟฟ้า รวม 4 รางวัล โดยได้รับรางวัลชนะเลิศ 3 รางวัล และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 อีก 1 รางวัล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ ด้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด หรือ Best Practice of Clean Coal Use and Technology in Power Generation เป็นผลงานของโรงไฟฟ้าแม่เมาะหน่วยที่ 12

 รางวัลชนะเลิศ ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ Corporate Social Responsibility ในเรื่อง “โรงไฟฟ้าแม่เมาะกับความเป็นกัลยาณมิตรสู่ชุมชน (Mae Moh Power Plant’s CSR : The Best Neighborhood of Mae Moh Community)” เป็นผลงานของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ , รางวัลชนะเลิศ ด้านพลังงานสร้างสรรค์ (Special Submission) ในการคิดค้นระบบสูบน้ำแบบอนุกรมต่างระดับอัตโนมัติ (Protection and Control of Floods in Open-Pit Mine by Automatic 3-stage Differential Elevation Series-Flow Pumping System) เป็นผลงานของเหมืองแม่เมาะ  และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ด้านกระบวนการทำเหมือง (Best Practice of Surface Coal Mining) เป็นผลงานของเหมืองแม่เมาะ  โดยกิจการทำเหมืองการเปิดหน้าเหมือง และการขนส่งถ่านหิน คำนึงถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ

  ทางด้าน บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ก็ได้คว้ารางวัลชนะเลิศระดับอาเซียน ประเภท Special Submission Category จากโครงการ "ลดการลุกไหม้ของฝุ่นถ่านในระบบ Coal Preparation" นายวรวิทย์ เลิศบุษศราคาม รองผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) กล่าวภายหลังเข้ารับรางวัลว่า โครงการดังกล่าวสามารถลดต้นทุนการใช้เชื้อเพลิงของบริษัทฯ โดยเฉพาะน้ำมันเตาที่มีราคาสูงกว่าถ่านหินและลดความเสี่ยงจากการปฏิบัติงานได้สำเร็จ 

  งานนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและคุณภาพขององค์กรที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการอนุรักษ์พลังงานได้เป็นอย่างดี โดยทีพีไอ โพลีน เข้าร่วมประกวดและคัดเลือกองค์กรที่มีความเป็นเลิศในด้านต่างๆ ของกิจการถ่านหินของประเทศไทย (Thailand Coal Award) เป็นครั้งแรก และสามารถคว้ารางวัลใหญ่จาก 2 เวทีการประกวดระดับประเทศและระดับอาเซียน (Thailand Coal Awards และ ASEAN Coal Awards) ถือเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการยกระดับมาตรฐานการประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับถ่านหินให้สูงขึ้น และเป็นต้นแบบของการประกอบกิจการที่ดีสำหรับผู้ประกอบการรายอื่นๆ เพื่อนำไปปรับใช้อันจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย และส่งเสริมการดำเนินการที่ดีในกิจการที่เกี่ยวข้องกับถ่านหินให้ได้มาตรฐานสากล ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและสังคมอย่างเป็นปกติสุข และสร้างความเจริญทางสังคมและเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น

  ตัวอย่างทั้งหมดที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งชอง 18 รางวัลแห่งความภาคภูมิใจของประเทศไทยจากเวที ASEAN Energy Award 2015 อย่างไรก็ดี กระทรวงพลังงานจะผลักดันให้มีการนำตัวอย่างผลสำเร็จในทุกๆ โครงการไปเผยแพร่ขยายผลและพัฒนาต่อยอดให้เกิดผลสำเร็จมากยิ่งขึ้นในวงกว้าง เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงทางพลังงานและ มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาวต่อไป

  นอกจากนี้ ทาง ASEAN Energy Awards ยังได้มอบรางวัลเกียรติยศในประเภทบุคคลพลังงานดีเด่น (Excellence in Energy Management by Individuals of 2015) ให้กับบุคคลที่มีบทบาทด้านพลังงานโดดเด่น ในภูมิภาคอาเซียน โดยบุคคลจากประเทศไทยที่ได้รับรางวัลดังกล่าว ได้แก่ นายคุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และ นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อดีตอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...