กระแสความนิยมยานยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% หรือ เรียกสั้นๆ ว่า รถ EV (Electric Vehicle) ในช่วงหลายปีมานี้ ถือว่ามีมากขึ้นเป็นลำดับ เพราะรถEV เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างช่วยลดการเกิดฝุ่นpm 2.5 ช่วยลดการใช้พลังงานน้ำมัน และประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่รถยนต์ได้มากกว่าหากเทียบกับการใช้รถน้ำมัน
เช่นกันกับในไทยที่รถ EV ได้รับความสนใจมากขึ้น ดังที่สะท้อนมาจากงานบางกอก อินเตอร์ เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2022 หรือมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 43 วันที่ 23 มีนาคม – 3 เมษายน 2565 ซึ่งผ่านมากว่า 1 สัปดาห์ของการจัดงาน ปรากฏว่า เฉพาะ 5 วันแรกมีผู้สนใจสั่งจองรถEV ไปแล้วราว 1,000 คัน หรือคิดเป็น 10% ของยอดจองรถทั้งหมดในช่วง5วันแรกของมอเตอร์โชว์ครั้งที่ 43 โดยเหตุที่มีความสนใจรถEV อย่างมากนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากมาตรการของรัฐบาลที่อุดหนุนส่วนลด 18,000 - 150, 000 บาท/คัน
มาตรการรัฐบาล หนุนใช้-ผลิต รถEV
สำหรับมาตรการจากรัฐบาลที่สนับสนุนเงินให้ผู้ประกอบรถEV ทั้งนำเข้าจากต่างประเทศและผลิตในประเทศ นำไปเป็นส่วนลดให้ประชาชนที่สนใจซื้อรถ EV ทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์ 18,000 - 150,000 บาท/คัน เป็นส่วนหนึ่งของหลายมาตรการที่รัฐบาลสนับสนุนให้มีการใช้และผลิตรถEV ในประเทศให้มากขึ้น โดยเมื่อวันที่14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี หรือ ครม.มีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ตามที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ บอร์ด EV กระทรวงพลังงานเสนอ โดยสรุปได้แก่
1. เงินอุดหนุนรถยนต์ และรถกระบะคันละ 70,000-150,000 บาท/คัน และรถจักรยานยนต์ 18,000 บาท/คัน
2. ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8 % เป็น 2 % และรถกระบะเป็น 0 %
3. ลดอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศ และนำเข้าทั้งคัน (CBU) สูงสุด 40 % สำหรับรถยนต์ ถึงปี 2566
4. ยกเว้นอากรขาเข้าส่วนประกอบรถยนต์EV จำนวน 9 รายการ เพื่อนำมาผลิตหรือประกอบรถEV ในประเทศ (CKD) จำนวน 9 รายการ
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการหรือค่ายรถที่เข้าร่วมต้องรับเงื่อนไข ได้แก่ ผลิตรถEV ในประเทศชดเชยให้เท่ากับจำนวนที่นำเข้าช่วงปี 2565 - 2566 ภายในปี 2567 แต่ขยายเวลาได้ถึงปี 2568 โดยจะต้องผลิตในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 คือ นำเข้า 1 คัน จะต้องผลิตในประเทศ 1 คัน โดยผู้ใช้สิทธิ์จะผลิต BEV หรือรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ รุ่นใดก็ได้เพื่อชดเชย ยกเว้นรถที่มีราคาขายปลีก 2-7 ล้านบาท ต้องผลิตรุ่นเดียวกับที่นำเข้ามา เป็นต้น ซึ่งขณะนี้มีค่ายรถจากจีน 3 ค่าย ลงนามร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสากิจเพื่อรับสิทธิประโยชน์จากการนำเข้าและผลิตรถยนต์ รวมทั้งจะได้รับเงินอุดหนุนส่วนลดจากภาครัฐไปเป็นส่วนลดให้ประชาชนที่สนใจซื้อรถEV ซึ่งในส่วนของเงินอุดหนุนส่วนลดปีนี้รัฐบาลอนุมัติให้ 3,000 ล้านบาท ขณะที่ค่ายรถจากญี่ปุ่นหลายค่ายอยู่ระหว่างพิจารณาเข้าร่วมโครงการ เช่นกับค่ายจากยุโรปหลายค่ายก็อยู่ระหว่างการพิจารณา แต่ทางกรมสรรพสามิต เห็นว่า หากรถEV จากค่ายยุโรป ทำราคาขายได้ต่ำกว่า 2 ล้านบาท ก็จะมีส่วนลดต่อคันสูงถึง 6-7 แสนบาท ดังนั้นเชื่อว่าค่ายรถทั้งหมดทั้งจากจีน ญี่ปุ่น ยุโรป กว่า 80% จะลงนามกับกรมสรรพสามิตได้หมดภายในปีนี้
นโยบาย 30@30 หนุนรถยนต์ไฟฟ้า มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
กลางปีที่ผ่านมา คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ บอร์ด EV ได้ออกแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามนโยบาย 30@30 คือการตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ.2573 นโยบาย30@30 นี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะนำไทยเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำในอนาคต ที่ขณะนี้หลาย ๆ ประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และในทวีปยุโรป ได้กำหนดเป้าหมายนี้ไว้ บอร์ดEV ของบ้านเราจึงกำหนดแนวทางและมาตรการตามนโยบาย 30@30 ออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 (ระยะเร่งด่วน) : ปี 2564 – 2565
นำร่องส่งเสริมการใช้รถEv ซึ่งมาตรการของภาครัฐที่ออกมา ทั้งอุดหนุนส่วนลดซื้อรถEV 18,000 -150,000บาท/คัน และการลดภาษีนำเข้ารถและส่วนประกอบต่างๆ อยู่ในระยะนี้
ระยะที่ 2 : ปี 2566 – 2568
พัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายการผลิตรถ EV ประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ 225,000 คัน รถจักรยานยนต์ 360,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 18,000 คัน ภายในปี 2568 รวมถึงการผลิตแบตเตอรี่ เพื่อตอบสนองการผลิตในประเทศ ซึ่งมาตรการที่ออกมาแล้วโดยรัฐบาล ทั้งลดภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถ EV และกำหนดอัตราการนำเข้ารถทั้งคันต่อการผลิตในประเทศ 1.5 คัน ของผู้ประกอบการ ก็อยู่ในระยะนี้
ระยะที่ 3 : ปี 2569 – 2573
ขับเคลื่อนแผนและมาตรการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมเพื่อให้บรรลุตามนโยบาย 30/30 ซึ่งมีเป้าหมายการผลิตรถ EV ประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะทั้งสิ้น 725,000 คัน ประเภทรถจักรยานยนต์ 675,000 คัน คิดเป็น 30% ของการผลิตภายในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573
ประโยชน์ที่คนไทยได้รับจากมาตรการหนุนใช้รถ EV
ประโยชน์จากการใช้รถ EV และผลดีจากมาตรการส่งเสริมการใช้-การผลิต จากภาครัฐแล้ว เรียกได้ว่าได้ประโยชน์แก่คนทั่วไป ไม่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือเอื้อธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง ซึ่งพอจะจำแนกออกเป็นข้อๆได้ ดังนี้
1.ประชาชนที่พอมีกำลังซื้อ จะได้ใช้รถ EV ในราคาที่ถูกลงทั้งในขณะนี้และถูกลงอีกในอนาคต
2.ช่วยลดค่าเดินทาง เพราะรถ EV มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ถูกกว่ารถที่ใช้น้ำมัน หากเทียบการใช้รถในระยะทางเท่ากัน
3. ลดการใช้น้ำมันที่นับวันจะแพงขึ้นและมีน้อยลง ข้อนี้เป็นผลดีต่อประชาชนโดยรวมทุกภาคส่วน เพราะหากใช้รถ EV พลังงานไฟฟ้ามาบรรทุกขนส่งสินค้าแทนรถน้ำมันได้มากขึ้นแล้ว ต้นทุนด้านการขนส่งสินค้าก็จะลดลง ส่งผลให้ประชาชนและผู้บริโภคทั่วไปได้ใช้สินค้าในราคาที่ถูกลงตามไปด้วย
4. รถEV เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นส่วนช่วยลดมลภาวะทางอากาศ จะช่วยทำให้คนไทยทุกคนได้อยู่ในสังคมที่มีสภาวะแวดล้อมดีขึ้น สะอาดขึ้น
5. เมื่อมีการตั้งฐานผลิตรถ EV ในไทยมากขึ้น ก็จะเกิดการจ้างงานคนไทยมากขึ้นด้วย ส่วนผู้ประกอบการหรือค่ายรถยนต์ ก็จะได้ผลิตรถ EV หรือดำเนินธุรกิจของตนเองภายใต้กฎกติกาและมาตรการที่อำนวยความสะดวกและเป็นธรรม ขณะที่ภาครัฐก็จะเก็บภาษีจากผู้ประกอบการได้มากขึ้นด้วย
สถานีชาร์จ ปัจจัยสำคัญตัดสินใจใช้รถ EV
แม้ขณะนี้ชาวไทยให้ความสนใจใช้รถEV มากขึ้น ทั้งจากสาเหตุการกระตุ้นการใช้จากภาครัฐ หรือเล็งเห็นผลประโยชน์ด้วยตนเองก็ตาม แต่อีกปัจจัยสำคัญหนึ่งที่หลายต่อหลายคนใช้ตัดสินใจว่าจะหันมาใช้รถ EV หรือไม่ คือ สถานที่และสถานีชาร์จไฟฟ้าที่เพียงพอ เพราะแม้รถ EV สามารถชาร์จไฟฟ้าที่บ้านได้ตามอุปกรณ์การชาร์จที่มีมากับรถ แต่พวกที่อาศัยในที่อยู่แนวดิ่ง เช่นคอนโดฯ แฟลต อพาร์ทเมนต์ ส่วนใหญ่ไม่มีการติดตั้งแท่นชาร์จในพื้นที่จอดรถ หรือไม่สะดวกต่อการลากสายชาร์จไปเชื่อมต่อระหว่างเต้าปลั๊กไฟฟ้ากับรถยนต์ ขณะที่สถานที่ทำงานทั้งภาครัฐและเอกชนยังมีการติดตั้งแท่นชาร์จน้อยแห่ง หากแก้ปัญหาในส่วนที่อยู่อาศัยแนวดิ่งและสถานที่ทำงานได้ ก็น่าจะเป็นสิ่งจูงใจให้คนหันมาใช้รถ EV มากขึ้น
ด้านพื้นที่สาธารณะและพื้นที่เอกชนทั่วไป นอกเหนือจากส่วนที่อยู่อาศัยและสถานที่ทำงาน ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ก็ยังมีสถานีชาร์จไฟฟ้าไม่มาก ดังนั้นทางหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจึงเร่งติดตั้งสถานีชาร์จ อย่าง
- การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ร่วมมือภาคเอกชน ติดตั้งสถานีชาร์จตามปั้มน้ำมันและพื้นที่เอกชนทั่วไปให้ได้อย่างน้อย 140 แห่งทั่วประเทศภายในปีนี้ จากเดิมมีอยู่แล้ว 45 แห่ง
- การไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. ติดตั้งหัวจ่ายชาร์จไฟในพื้นที่ส่วนราชการและเอกชน ในกรุงเทพฯ ไปแล้ว 22 หัวจ่าย ภายในปีนี้จะติดตั้งให้ครบ 100 หัวจ่าย
- บริษัทบางจากฯ ร่วมมือค่ายรถ เร่งติดตั้งสถานีชาร์จให้ได้ 500 แห่งทั่วประเทศภายในปีนี้ จากเดิมมีอยู่แล้ว 45แห่ง
- กลุ่ม ปตท.เร่งขยายสถานีชาร์จให้ได้ 1,000 แห่งทั่วประเทศภายในปีนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ของโรงแรม ศูนย์การค้า และอาคารสำนักงาน
- ค่ายรถ EV ก็เร่งติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบชาร์จเร็ว และแบบปกติ รองรับรถEV ที่ทยอยออกสู่ท้องถนนอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ได้วางเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2030 หรือ 8 ปีข้างหน้า จะต้องมีสถานีชาร์จสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เพิ่มอีก 567 แห่ง จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 827แห่ง เป็น 1,304 แห่ง ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้ประชาชนหันมาใช้รถEV มากขึ้นอย่างแน่นอน