กระทรวงพลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเป็นเจ้าภาพจัดประชุมนานาชาติ การประชุมคณะกรรมการถ่านหินอาเซียน ครั้งที่ 20 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง (The 20th AFOC Council Meeting and its Associated Meetings) ผ่านระบบออนไลน์
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมการถ่านหินอาเซียน ครั้งที่ 20 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง (The 20th AFOC Council Meeting and its Associated Meetings) ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 10 ประเทศ จากประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN Member States) องค์กรจากนานาประเทศ (International Organizations, IOs) และคู่เจรเจรจา (Dialogue Partners, DPs) ได้แก่ ญี่ปุ่น สกอตแลนด์ นอร์เวย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย
ด้าน นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการถ่านหินอาเซียนฝ่ายไทย กล่าวว่า การประชุมนี้เป็นกิจกรรมที่ดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน ระยะที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ. 2564 -2568 (APAEC Phase II: 2021-2025) เพื่อรายงานและติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานภายใต้กรอบแผนงานที่ 3 ว่าด้วยเรื่องถ่านหินและเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด (Programme Area No 3: Coal and Clean Coal Technology) และในครั้งนี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ผลักดันให้เกิดความร่วมมือในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับ การกักเก็บและการใช้ประโยชน์คาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้าน CCUS จากองค์กรทั้งในและต่างประเทศ อาทิ Japan Oil, Gas and Metals National Corporation (JOGMEC), Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA), Global CCS Institute, International Energy Agency (IEA), Northern Lights CCS (Norway), Heriot Watt University (UK) และอื่น ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และแนวทางการพัฒนา พร้อมทั้งแสวงหาความร่วมมือกับนานาประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมและผลักดันการดำเนินงานและพัฒนา CCUS ในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ซึ่งการประชุมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสในการแสดงบทบาทและท่าทีของประเทศไทยในการสนับสนุนและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี Clean Coal Technology (CCT) และ CCUS เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero emission) ภายในปี พ.ศ. 2608 ตามที่
นายประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเจตนารมณ์ของประเทศไทยในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์
"การประชุมในครั้งนี้ จะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่สำคัญของไทยในการขับเคลื่อนการพัฒนา CCUS รวมถึงการนำเทคโนโลยี CCUS โดยเฉพาะการดักจับ CO2 ให้มีการติดตั้งในโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อช่วยลดการปล่อย CO2 สู่ชั้นบรรยากาศ โดยความสำเร็จจากการประชุมครั้งนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สอดรับนโยบายรัฐบาล อีกทั้งยังจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศโดยเฉพาะด้านความมั่นคงทางพลังงานอีกด้วย" นายสราวุธ กล่าว