ชาวบ้านวังมะพลับ พร้อมใจร่วมเข้ากระบวนการจัดตั้งองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น ตามประกาศกรมประมง วางเป้าเร่งฟื้นฟูเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำเขื่อนลำปาว จุดแหลมโนนวิเศษ ร่วมกับอีก 2 หมู่บ้าน พร้อมหาแนวทางป้องกันการกระทำความผิดในแนวเขตหลังพบเซียนเบ็ดทำผิดซ้ำซาก
วันที่ 8 เม.ย.65 ที่ศาลาประชาคมบ้านวังมะพลับ ตำบลโนนบุรี อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ นางสาวแววตา นระทัด นายอำเภอสหัสขันธ์ มอบหมายให้นางสาวกฤษณา เขามีทอง ประมงอำเภอสหัสขันธ์ ร่วมประชุมและรับฟังความคิดเห็นการจัดตั้งองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น แนวเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว จุดแหลมโนนวิเศษ ร่วมกับนายวีระพงศ์ วังจำนงค์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดกาฬสินธุ์ โดยมีนายอนุสรณ์ คณะศรี ผู้ใหญ่บ้าน และตัวแทนชาวบ้าน 20 คน เข้าร่วม
โดยจุดแหลมโนนวิเศษ ซึ่งอยู่ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาวมีพื้นที่ กว่า 700 ไร่ คาบเกี่ยว 3 หมู่บ้าน ในเขตตำบลโนนบุรี ประกอบด้วยบ้านวังมะพลับ บ้านโนนสวาท และบ้านโนนวิเศษ ด้วยแหลมโนนวิเศษเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ติดกับสะพานเทพสุดา ทำให้มีนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจจำนวนมาก โดยเฉพาะนักตกปลาเซียนเบ็ด ที่ยังมีการกระทำความผิดลุกล้ำเข้าไปในพื้นที่เขตอนุรักษ์จำนวนมาก เป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้น โดยชาวบ้านเองก็มองว่าน่าจะมีการเร่งดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วนรวมถึงการสร้างบ้านและที่หลบภัยเตรียมความพร้อมฤดูน้ำแดงหรือฤดูปลาวางไข่ของปี 65 ด้วย
นายวีระพงศ์ วังจำนงค์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำในเขื่อนลำปาวมีทั้งหมด 5 แห่ง มีเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำของชุมชนในเขื่อนลำปาวมี 24 แห่ง ในการจับดำเนินคดีผู้กระทำความผิดยังพบอยู่เป็นประจำ อย่างไรก็ตามในการตั้งองค์ชุมชนประมงท้องถิ่น ในส่วนของอำเภอสหัสขันธ์ได้รับเงินสนับสนุนแล้ว 3 หมู่บ้านคือบ้านคำคา ตำบลโนนศิลา และบ้านท่าศรี ตำบลภูสิงห์ และบ้านนาสีนวล ตำบลสหัสขันธ์ มีความเข้มแข็งและได้รับการสนับสนุนจากรมประมงแล้ว การตั้งองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น ก็เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและสนับสนุนชุมชนประมงท้องถิ่นในการจัดการ การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์ อย่างยั่งยืนจากทรัพยากรน้ำ ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 25 โดยในจุดแหลมโนนวิเศษ มี 3 หมู่บ้านที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระบวนการจะทำประชาคมประชุมชาวบ้านก่อนทั้ง 3 แห่ง จากนั้นจึงจะมีการคัดเลือกตัวแทนจาก3 หมู่บ้าน มาจัดตั้งองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น
“หลังจากจัดตั้งกลุ่มเรียบร้อยแล้ว ก็จะเป็นกระบวนการของชุมชนโดยส่วนราชการจะเป็นพี่เลี้ยงให้ให้คำปรึกษา และร่วมแก้ปัญหาร่วมกับชุมชน การทำแนวเขต วางทุ่น ทำที่หลบภัยปลา และการเฝ้าระวังพื้นที่ จะเป็นในส่วนของชุมชนเข้ามาจัดการทั้งหมด โดยเฉพาะการเฝ้าระวังและกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์ ที่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากชุมชนเป็นหลัก เพื่อเกิดเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตามในช่วงฤดูน้ำแดงหรือปลาวางไข่ปี 2565 ได้เริ่มประชาสัมพันธ์ฝากข่าวไปยังหอกระจายข่วทุกหมู่บ้านแล้ว ซึ่งปีนี้ยังจะเข้มข้นเช่นเดิมสามารถสอบถามข้อมูลรายละเอียดได้ที่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืด จ.กาฬสินธุ์ หรือ ประมงอำเภอทุกแห่ง” ผอ.ศูนย์ปราบปรามฯกล่าว
ทีมข่าวกาฬสินธุ์