ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
นักวิจัยพบสูบบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงตาบอด2เท่า
10 เม.ย. 2565

รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยงานวิจัยจากวารสาร American Journal of Ophthalmology ฉบับเดือนมีนาคม 2565 ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่ไฟฟ้ากับความบกพร่องทางการมองเห็น

ซึ่งเป็นงานวิจัยของภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส หรือ UCLA โดยการศึกษานี้ใช้ข้อมูลสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพของสหรัฐอเมริกา (Behavioral Risk Factor Surveillance System: BRFSS) ในประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไป ระหว่างปี 2559-2561 รวม 1,173,646 คน นำมาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ากับภาวะบกพร่องทางการมองเห็น (ตาบอดหรือมีปัญหาทางการมองเห็นอย่างรุนแรงแม้จะใช้แว่นตา)

โดยควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพอื่นๆ ที่จะมีผลต่อภาวะบกพร่องทางการมองเห็น เช่น อายุ เพศ เชื้อชาติ รายได้ ดัชนีมวลกาย ประวัติการดื่มสุรา สุขภาพจิต รวมทั้งการสูบบุหรี่ธรรมดา ซึ่งผลการศึกษาพบว่า คนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มจะมีภาวะบกพร่องทางการมองเห็นสูงกว่าคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยหากพิจารณาเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่เคยมีประวัติสูบบุหรี่ธรรมดามาก่อน พบคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าจะเสี่ยงต่อภาวะบกพร่องทางการมองเห็นเพิ่มขึ้นเป็น 1.96 เท่าของคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่ไฟฟ้า

“คณะผู้วิจัยได้สันนิษฐานถึงสาเหตุของการที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้สูญเสียการมองเห็นไว้ 3 สาเหตุ คือ 1.เกิดจากสารโพเพอรีน ไกลคอลที่เป็นส่วนผสมสำคัญในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ผลิตสารอนุมูลอิสระที่ไปทำลายชั้นไขมันของน้ำตา (tear film) ทำให้น้ำตามีคุณภาพที่ไม่ดี ไม่สามารถรักษาความชุ่มชื้นของดวงตาได้ นำมาสู่อาการอักเสบ ตาแห้ง ระคายเคือง 2.การสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างอนุมูลอิสระกับระบบต้านออกซิเดชั่นในร่างกาย ซึ่งพบว่าเพิ่มโอกาสการเกิดต้อกระจก ต้อหิน หรือจอประสาทตาเสื่อม และ 3.ผลของนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าที่ทำให้เส้นเลือดหดตัว ทำให้เลือดไปเลี้ยงดวงตาและเส้นประสาทตาลดลง เพิ่มความเสี่ยงของต้อหิน” รศ.พญ.เริงฤดี กล่าว

รศ.พญ.เริงฤดี กล่าวต่อว่า เมื่อไม่นานมานี้มีการรายงานเคสผู้ป่วยอายุ 22 ปีในสหรัฐฯ มีประวัติสูบบุหรี่ไฟฟ้าต่อเนื่อง 5 ปี สูบเฉลี่ยอย่างน้อย 5 ครั้งต่อวัน โดยไม่มีประวัติสูบบุหรี่ธรรมดามาก่อน ถูกวินิจฉัยว่าเป็น “มะเร็งตา” มาพบแพทย์ด้วยอาการตาพร่ามัว เดิมคิดว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัส แต่รักษาแล้วไม่ดีขึ้น จนกระทั่งพบว่าเป็นมะเร็งตา ซึ่งโรคนี้พบไม่บ่อยโดยเฉพาะในคนอายุน้อย รายนี้แพทย์สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นผลมาจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพราะไม่พบปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ จึงอยากฝากไปถึงคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าหรือคิดอยากลองว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายกว่าที่คิด

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า งานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้ามีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้บุหรี่ไฟฟ้าแพร่หลายมาเพียง 15 ปีเท่านั้น ดังนั้นจึงยังไม่ควรด่วนสรุปว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา เพราะกรณีบุหรี่ธรรมดาต้องใช้เวลาศึกษาวิจัยถึงกว่า 100 ปี จึงจะทราบว่าการสูบบุหรี่ทำให้เกิดมะเร็งปอด

ซึ่งในอดีตบริษัทบุหรี่ก็ไม่ยอมรับและพยายามบิดเบือนอันตรายของบุหรี่มาตลอด จนต้องให้ศาลยุติธรรมสหรัฐฯ ตัดสินว่าบริษัทบุหรี่ปกปิดความจริงเรื่องอันตรายของบุหรี่และทำการตลาดพุ่งเป้าที่เยาวชน จึงอยากให้สังคมช่วยจับตาว่าประวัติศาสตร์กำลังซ้ำรอยที่ปัจจุบันบริษัทบุหรี่และเครือข่ายสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าพยายามบิดเบือนว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...