นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานและสักขีพยานการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Understanding) ด้านวิชาการระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี และศูนย์อํานวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ในโครงการกระจายความรู้สู่ผู้ประกอบการยุคใหม่ From Gen Z to be CEO (ภาคใต้) พร้อมด้วยนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ รศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) และนางอารดา เฟื่องทอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่ห้องประชุมอาคารเรียนรวมเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี อําเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี
นายจุรินทร์ กล่าวว่าภายใต้โครงการปั้น Gen Z เป็น CEO ของกระทรวงพาณิชย์ที่ตนได้มอบนโยบายให้ดำเนินการมาโดยต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2563 ต่อเนื่องถึงปีนี้ 2565 ปั้น GenZ เป็น CEO ไปแล้วจำนวนมาก ซึ่ง Gen Z ต่างจากรุ่นตนและ Gen X Gen Yเพราะส่วนใหญ่จบการศึกษาไปแล้วหลายคนอยากเป็นนายตัวเอง ซึ่งก็ต้องมีธุรกิจหรือกิจการของตนเอง จึงเป็นที่มาของนโยบายปั้น Gen Z ให้เป็น CEO โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA)ของกระทรวงพาณิชย์ จะเป็นหัวเรือใหญ่จัดหลักสูตรอบรมให้ความรู้กับผู้ประกอบการตั้งแต่ Micro SME และ SME และผู้ส่งออก เราจึงตั้งเป้าปั้นน้องนักศึกษาปี 3-4 ก่อนจบการศึกษา และเมื่อจบไปแล้วจะได้ไปเป็นนายตนเองทำธุรกิจเป็น CEO ให้กับกิจการของตัวเองได้ 2 ปีที่ผ่านมา 63-64 เราลงนาม MoU กับสถาบันการศึกษาทุกภาคทั่วประเทศ 94 สถาบัน จบหลักสูตรไปแล้ว 21,000 คน และปี 65 ตั้งเป้าจะทำให้ได้ 20,000 คนภายในปีเดียว และในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ต่ำกว่า 1,000 คน สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้จะไม่เป็น CEO Gen Z ปกติแต่จะปั้นเป็น CEO ฮาลาล ซึ่งจะมีทั้งสินค้าและบริการรวมทั้ง Soft Power ของจังหวัดชายแดนใต้ที่จะเป็นจุดขายทำให้ประสบความสำเร็จในทางธุรกิจการค้าได้ “ปัญหาชายแดนใต้มี 3-4 ข้อ 1.ความมั่นคง 2.การศึกษา 3.เศรษฐกิจ โครงการนี้จะเป็นโครงการที่ช่วยสนองตอบการช่วยแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจให้กับพี่น้องโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างตรงประเด็นที่สุดและสนองตอบต่อนโยบายเศรษฐกิจการค้าของประเทศด้วย ซึ่งต้องสมัครเข้าโครงการ และจะมีการอบรมใช้เวลาเต็มวันประมาณ 5 ครั้ง หลังจากนั้นจะมีการฝึกงานจริง หลักสูตรที่เรียน เช่น การบริหารจัดการธุรกิจยุคใหม่ การบริหารจัดการการส่งออก ความรู้การส่งออกเบื้องต้น การวิเคราะห์การตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ การบริหารจัดการสตาร์ทอัพ การเอา Soft Power ศิลปะวัฒนะธรรมประเพณีของคนจังหวัดชายแดนใต้ผสมผสานเป็นจุดขายให้กับสินค้าและบริการสร้างความเป็นอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ของเราเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และทรัพย์สินทางปัญญา ช่วยสร้างมูลค่าให้กับสินค้าและบริการต่อไปในอนาคต รวมทั้งการทำแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าบริการในแพลตฟอร์มต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเรื่องอีคอมเมิร์ซ สินค้าและบริการแห่งอนาคต ซึ่งเป็นเทรนใหม่ของโลก จะได้มีพื้นความรู้ในการเป็นนายของตัวเองอย่างมีศักยภาพ นอกจากนำรายได้ให้กับครอบครัว ตนเองและนำรายได้ให้กับประเทศถ้าส่งออกต่อไปได้ และได้ของแถมคือได้หน่วยกิตด้วยเพราะเราทำ MoU กับมหาวิทยาลัย และ ศอ.บต. เรียนแล้วได้หน่วยกิต ตั้งเป้าว่าอย่างน้อยจังหวัดชายแดนใต้จะทำให้ได้ 1,000 คน” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว และตนขอมอบท่านปลัดกระทรวงพาณิชย์ นำสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพและต้องการเข้าร่วมกับทีมเซลล์แมนจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อช่วยเสริมการวิจัยและพัฒนาให้กับสินค้าและบริการให้กับทีมเซลล์แมนจังหวัด จะได้มีเวทีสำหรับการเอาผลงานวิจัยพัฒนาเป็นสินค้าและบริการได้ทันที