อพท. จับมือ สกสว. ยกระดับ 6 ชุมชนพื้นที่คุ้งบางกะเจ้ามุ่งสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวมาตรฐาน CBT Thailand และ GSTC พร้อมรองรับตลาดท่องเที่ยวคุณภาพสูง จัดทำคู่มือ และคลิปท่องเที่ยวไทย- อังกฤษ นำเที่ยวชุมชน ขึ้นบัญชี Top 100 ดันเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. เปิดเผยว่า ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในมาตรฐานสากล ใน 2 กิจกรรมหลัก คือ การพัฒนาคุ้งบางกะเจ้าให้เป็นพื้นที่ต้นแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยใช้เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย หรือ CBT Thailand และพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ด้วยหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC ที่มีการบูรณาจากทุกภาคส่วน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของภาคีเครือข่าย และชุมชนท้องถิ่น ในการพัฒนาบนฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และต่อยอดสู่การตลาดท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ อพท.จะเข้าไปพัฒนาเพิ่มศักยภาพนักสื่อความหมายท้องถิ่น นำนวัตกรรมเพื่อการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงอาหารที่ยังคงอัตลักษณ์ เทคนิคการจัดจานอาหารเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และยกระดับกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เส้นทางท่องเที่ยวโดยชุมชน จัดทำคู่มือท่องเที่ยวทั้ง 6 ตำบลทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และจัดทำคลิปวิดีโอนำเที่ยวชุมชนท่องเที่ยว เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในเกณฑ์ GSTC ให้กับภาคีทุกภาคส่วนในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าและจังหวัดสมุทรปราการ ตลอดจนการประเมินสถานะความยั่งยืนทางการท่องเที่ยว เพื่อเข้าสู่มาตรฐานในระดับประเทศ ได้แก่ มาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชนจากกรมการท่องเที่ยว มาตรฐานความปลอดภัยและสุขอนามัย หรือมาตรฐาน SHA และรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย หรือรางวัลกินรี จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และรางวัล MICE เพื่อชุมชน
รองศาสตราจารย์ ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. กล่าวว่า ความร่วมมือกับ อพท. ครั้งนี้ สกสว. ได้จัดสรรทุนวิจัยสำหรับศึกษาและวิจัยตามที่ อพท. เสนอขอจำนวน 6 ล้านบาท โดยได้เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564 ถึง เมษายน ปี 2565 เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และเสริมพลัง สร้างการรับรู้ สร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน รวมถึงการพัฒนากลไก มาตรการที่หนุนเสริมศักยภาพของบุคลากร หน่วยงาน ตลอดจนการผลักดันการนำผลงานสู่การใช้ประโยชน์และบรรลุเป้าหมายเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม