ระหว่างวันที่ 18 มีนาคม-18 เมษายน 2565 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำร่างพระราชบัญญัติภาษีป้าย (ฉบับที่…) พ.ศ. …
หลังพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 ใช้บังคับมาเป็นเวลานานไม่สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาวะทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป จึงจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยภาษีป้ายมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาวะทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป
โดยมีประเด็นปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้
1.แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามศัพท์คำว่า “ป้าย” “เครื่องหมาย” และ “เจ้าของป้าย” ให้ครอบคลุมประเด็นปัญหาในทางปฏิบัติ และคำว่า “ราชการส่วนท้องถิ่น” เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายอื่น
2.แก้ไขเพิ่มเติมป้ายบางประเภทที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี ดังนี้ ป้ายที่แสดงไว้ภายในอาคารที่จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีป้ายให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น แก้ไขเพิ่มเติมโดยกำหนดให้ป้ายของรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งในรูปบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมายบริษัทมหาชนจำกัด และรัฐวิสาหกิจที่เกิดจากการแปลงสภาพ ตามกฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจ
© Matichon ภาพประกอบข่าว
ซึ่งมีสถานะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร รวมถึงธนาคารที่ประกอบกิจการพาณิชย์ ไม่ได้รับยกเว้นภาษี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันกับเอกชน และส่งเสริมการหารายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และแก้ไขเพิ่มเติมป้ายชื่อของโรงเรียนเอกชนและสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ
3.แก้ไขเพิ่มเติมวิธีการปิดหนังสือหรือประกาศแจ้งความในหนังสือพิมพ์ให้ง่ายต่อการปฏิบัติและสอดคล้องกับบทบัญญัติตามมาตรา 8 แห่งประมวลรัษฎากร
4.เพิ่มเติมบทบัญญัติเรื่องป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงล่วงล้ำที่สาธารณะตามความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย
5.แก้ไขเพิ่มเติมเรื่องหน้าที่ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายกรณีเจ้าของชื่อ หรือเครื่องหมายไม่ใช่บุคคลเดียวกับเจ้าของโครงป้ายให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
6.แก้ไขเพิ่มเติมคำว่า “ตัวเลข” เพื่อให้สอดคล้องกับบทนิยามคำว่า “ป้าย”
7.เพิ่มเติมบทบัญญัติเรื่องการขยายกำหนดเวลาในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายตามกฎหมาย เพื่อประโยชน์ในการบริการประชาชนตามความจำเป็น
8.แก้ไขเพิ่มเติมระยะเวลาในการชำระภาษีจาก 15 วัน เป็น 30 วัน เพื่อให้ประชาชนผู้เสียภาษีได้มีเวลาในการชำระภาษีเพิ่มขึ้น และเพิ่มเติมวิธีการชำระภาษีเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการชำระภาษี
9.เพิ่มเติมบทบัญญัติเรื่องการลดภาษีป้ายเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม เหตุการณ์ กิจการ หรือสภาพแห่งท้องที่
10.แก้ไขเพิ่มเติมกรณีผู้ยื่นคำร้องไม่ขอเงินคืนภายในกำหนดให้ตกเป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
11.เพิ่มเติมบทบัญญัติเรื่องการยื่นและการแจ้งทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือด้วยวิธีอื่นใด เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน
12.แก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการคิดเงินเพิ่มที่เรียกเก็บไม่เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องเสีย เพื่อให้เกิดความเหมาะสม เป็นธรรม และไม่เป็นการเพิ่มภาระต่อประชาชนจนเกินควร
13.แก้ไขเพิ่มเติมกรณีผู้อุทธรณ์ไม่ขอรับเงินคืนภายในกำหนดให้ตกเป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
14.แก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษกรณีผู้ไม่ขออนุญาตติดตั้งหรือแสดงป้ายล่วงล้ำที่สาธารณะ
15.แก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษกรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บริหารท้องถิ่นในการแก้ไข ปลด หรือรื้อถอนสำหรับป้ายที่ไม่ขออนุญาตติดตั้งหรือแสดงป้ายล่วงล้ำที่สาธารณะ
หากไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายภายในเวลาที่กำหนดให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 10 ของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีป้าย เว้นแต่กรณีที่เจ้าของป้ายที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายก่อนที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะได้แจ้งให้ทราบถึงการละเว้นนั้นให้เสียเงินเพิ่มร้อยละห้าของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีป้าย
หากยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายโดยไม่ถูกต้องทำให้จำนวนเงินที่จะต้องเสียภาษีป้ายลดน้อยลงให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 10 ของภาษีป้ายที่ประเมินเพิ่มเติมเว้นแต่กรณีที่เจ้าของป้ายได้มาขอแก้ไขแบบแสดงรายการภาษีป้ายให้ถูกต้องก่อนที่พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งการประเมิน
และไม่ชำระภาษีป้ายภายในเวลาที่กำหนดที่เสียเงินที่เพิ่มร้อยละ 2 ต่อเดือนของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีป้าย เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน
16.แก้ไขเพิ่มเติมบัญชีอัตราภาษีป้ายท้ายพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 และกำหนดประเภทป้ายและกำหนดอัตราเพดานภาษีใหม่ และปรับแก้ไขเพิ่มเติมกรณีภาษีป้ายที่คำนวณได้เป็นเศษสตางค์ให้ปัดเศษขึ้นเป็นจำนวนเต็มบาท ให้เหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมการพัฒนาการหารายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระยะยาว
อาทิ ป้ายที่มีอักษรไทยหรือตัวเลขล้วน ป้ายที่มีข้อความหรือตัวเลขที่เคลื่อนที่หรือเปลี่ยนข้อความหรือตัวเลขได้ให้คิดอัตรา 50 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตร ป้ายที่นอกเหนือจากนี้ให้คิดอัตรา 25 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
ป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย ตัวเลขหรือภาพที่ขึ้นที่หรือเปลี่ยนข้อความเครื่องหมายตัวเลขหรือภาพได้ให้คิดอัตรา 400 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตร ป้ายที่นอกเหนือจากนี้ให้คิดอัตรา 200 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตร เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อคำนวณพื้นที่ของป้ายแล้ว ถ้ามีเศษเกินกึ่งหนึ่งของ 500 ตารางเซนติเมตร ให้นับเป็น 500 ตารางเซนติเมตร ถ้าไม่เกินกึ่งหนึ่งให้ปัดทิ้ง ถ้ามีอัตราที่ต้องเสียภาษีต่ำกว่าป้ายละ 200 บาท ให้เสียภาษีป้ายละ 200 บาท ค่าภาษีป้ายที่คำนวณได้เป็นเศษสตางค์ให้ปัดเศษขึ้นเป็นจำนวนเต็มบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยได้ปรับอัตราภาษีป้ายใหม่ไปเมื่อปี พ.ศ.2564 โดยกฎกระทรวงกำหนดอัตราภาษีป้ายไว้ดังนี้
1.ป้ายที่มีอักษรไทยล้วน ป้ายที่มีข้อความที่เคลื่อนที่หรือเปลี่ยนเป็นข้อความอื่นได้ อัตราภาษีป้าย 10 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตร ป้ายติดทั่วไปที่นอกเหนือจากนี้คิดอัตราภาษีป้าย 5 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
2.ป้ายที่มีอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศ หรือปนกับภาพ หรือเครื่องหมายอื่น ป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้คิดอัตราภาษีป้าย 52 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตร ป้ายติดทั่วไปที่นอกเหนือจากนี้คิดอัตราภาษีป้าย 26 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
3.ป้ายที่ไม่มีอักษรไทยไม่ว่าจะมีภาพหรือเครื่องหมายใดๆ หรือไม่ และป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วน หรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ ป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ อัตราภาษีป้าย 52 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตร ป้ายติดทั่วไปที่นอกเหนือจากนี้คิดอัตราภาษีป้าย 50 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตร