นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่จังหวัดน่าน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เห็นสถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของลูกค้าสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีลูกค้าในจังหวัดที่เป็นหนี้เสียถึง 6%, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) 9%, ธนาคารกรุงไทย 8%, และธนาคารออมสิน 10%
อย่างไรก็ดี ยอดหนี้ไม่ได้มีจำนวนมาก เฉลี่ยประมาณ 10 ล้านบาทต่อราย
ทั้งนี้ จึงได้มอบนโยบายแบงก์รัฐ ตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศว่า ปี 2565 นี้เป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้ โดยได้สั่งการให้แบงก์รัฐไปจัดทำโครงการปล่อยสินเชื่อใหม่ เพื่อนำสภาพคล่องไปลงทุน แล้วนำรายได้และกำไรที่ได้มากลับมาชำระหนี้ก้อนเดิม ส่วนหนี้ใหม่พักไว้ก่อน โดยมีระยะเวลาปลอดชำระหนี้
“หลักการนี้น่าจะทำได้ ซึ่งตอนนี้ได้มอบนโยบาย ธ.ก.ส.ไป เพื่อเป็นแบงก์ตัวอย่างในการดำเนินการ เช่น การพักหนี้ แล้วจัดทำโครงการใหม่ เพื่อมาใช้หนี้ โดยเป็นโครงการที่มีรายได้ มีผลกำไร แล้วนำมาชำระหนี้เก่า
“ส่วนหนี้ใหม่พักไว้ก่อน และมีระยะเวลาปลอดชำระหนี้ ดังนั้น หากรอบรายได้ของเขาได้มาทุก 3 เดือน ก็สามารถนำมาชำระหนี้เดิมส่วนหนึ่งได้ อีกส่วนหนึ่งก็เก็บไว้ คล้ายกับโครงการคนละครึ่ง” นายอาคมกล่าว
นายอาคมกล่าวว่า ในการจัดทำเรื่องดังกล่าว แบงก์รัฐสามารถดำเนินการได้ทันที ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการลดหนี้เสียของแบงก์รัฐไปด้วย โดยที่ผ่านมาแบงก์รัฐก็มีการดำเนินมาตรการดูแลลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เฉพาะช่วงที่เกิดวิกฤต แต่ยอมรับว่าในส่วนของธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.มีหนี้เสียมากที่สุด
อย่างไรก็ดี ในฐานะที่เป็นแบงก์รัฐ เมื่อดำเนินมาตรการที่เป็นนโยบายรัฐก็จะส่งผลให้เกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว แต่หนี้เสียบางส่วน หากอยู่ในโครงการรัฐ รัฐก็จะชดเชยให้
“เราคงไม่ปล่อยให้แบงก์รัฐดำเนินมาตรการจนหมดตัว เพราะแบงก์เองก็ต้องมีการกันสำรองไว้ตามกฎของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และต้องมีสภาพคล่องเพียงพอคล้ายกับธนาคารพาณิชย์
“เพียงแต่บทบาทในการเข้ามาช่วยเหลือประชาชนจะมีมากกว่า และยังได้รับการชดเชยจากรัฐบาลด้วย ดังนั้น แบงก์รัฐต้องออกแรงมากกว่านี้” นายอาคมกล่าว
ส่วนกรณีการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบนั้น รมว.คลังกล่าวว่า ต้องใช้กลไกของสถาบันการเงินชุมชน โดยการรับโอนหนี้นอกระบบเข้ามา แล้วให้ลูกหนี้ผ่อนชำระกับทางสถาบันการเงินชุมชน ในอัตราดอกเบี้ยถูก เพื่อช่วยเหลือคนในชุมชน
“การดำเนินการที่สำคัญในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบจะต้องมีการร่วมมือกันในระดับรากหญ้าด้วย ทั้งนี้ เรื่องของหนี้ครัวเรือนจริง ๆ แล้วมีอยู่หลายภาคส่วน เช่น หนี้จากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่มีการลดหย่อนหนี้ให้ รวมทั้งแก้ไขกฎหมาย โดยลดการค้ำประกัน ขณะที่มาตรการระยะสั้นเป็นการชะลอบังคับคดี ซึ่งก็มีการทำอยู่แล้ว ส่วนหนี้ครู ซึ่งมีคณะกรรมการดูแลอยู่” รมว.คลังกล่าว