นักวิจัยและนักประดิษฐ์ของ กฟผ. คว้าเหรียญรางวัล ในงาน “45th International Exhibition of Inventions of Geneva” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 จำนวน 4 รางวัล จากผลงาน การปรับปรุงระบบเผาไหม้ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ, Fully Redundancy EGAT – AVR และ การดัดสตีมเทอร์ไบน์โรเตอร์ ช่วยเพิ่มความมั่นคงระบบไฟฟ้าและลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ
นายกรศิษฐ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ. ได้รับ 4 รางวัลจากการเข้าร่วมการประกวดและจัดแสดงผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมในเวทีนานาชาติ “45th International Exhibition of Inventions of Geneva” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม – 2 เมษายน 2560 ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยมีสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำทีมนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทย เข้าร่วมการประกวดและจัดแสดงผลงานกว่า 90 ชิ้น จาก 725 ชิ้นทั่วโลก
ผู้ว่าการฯ กล่าวต่อไปว่า คณะนักวิจัยและนักประดิษฐ์ของ กฟผ. ได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติ จำนวน 3 ผลงาน โดยได้รับรางวัลเหรียญทอง 1 รางวัล และเหรียญเกียรติยศ (Special Prize) จากประเทศจีน 1 รางวัล จากผลงานการปรับปรุงระบบเผาไหม้ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ให้เหมาะกับสภาพถ่านหิน โดยไม่ต้องลดกำลังการผลิตไฟฟ้า นอกจากนี้ยังได้รับ รางวัลเหรียญเงิน 2 รางวัล จากผลงาน Fully Redundancy EGAT – AVR เพื่อพัฒนาชุดอุปกรณ์ควบคุมแรงดันเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โดยออกแบบชุดอุปกรณ์ 2 ชุดให้ทำงานแทนกันได้เมื่อตรวจพบความผิดปกติของอุปกรณ์ ซึ่งช่วยลดการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศได้กว่า 174 ล้านบาท และรางวัลจากผลงานการดัดสตีมเทอร์ไบน์โรเตอร์ด้วยกรรมวิธีทางความร้อน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นคงและลดความสูญเสียในการผลิตไฟฟ้า
กฟผ. เข้าร่วมงานการประกวดและจัดแสดงผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมที่กรุงเจนีวา อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ตั้งแต่ พ.ศ. 2556 และสามารถคว้ารางวัลมาได้ทุกปี รวมทั้งสิ้นจำนวน 15 รางวัล แบ่งเป็น 2 เหรียญทอง 5 เหรียญเงิน 3 เหรียญทองแดง 5 เหรียญเกียรติยศ อาทิ รางวัลเหรียญเงินและเหรียญเกียรติยศ จากผลงาน เครื่องปรับแนวสายพานส่งถ่านหินลิกไนต์ แม่เมาะ ซึ่งช่วยป้องกันการชำรุดของขอบสะพาน ลดการหยุดเครื่องจักร หลีกเลี่ยงต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากการใช้โรงไฟฟ้าน้ำมันเตาทดแทน ในพ.ศ. 2557 และ รางวัลเหรียญทองแดง จากการพัฒนาผลงานสายพานแม่เมาะ สามารถลดปัญหาการตกหล่นของเถ้าหนักและยิปซั่ม และลดต้นทุนค่าเสียโอกาสจากการหยุดสายพานได้ถึง 4 ล้านบาท ในพ.ศ. 2558 ซึ่งผลงานดังกล่าวสามารถประยุกต์ใช้ได้กับระบบสายพานลำเลียงชนิดอื่นๆ นับเป็นนวัตกรรมชิ้นแรกของโลกซึ่งผลิตโดย กฟผ. อีกด้วย
“กฟผ. ให้การส่งเสริมพนักงานในการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์มาอย่างจริงจัง จนได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าวช่วยเพิ่มความมั่นคงกับระบบไฟฟ้า และช่วยประเทศชาติประหยัด สามารถลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย โดย กฟผ. จะสร้างนักวิจัย นักประดิษฐ์ให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ฝีมือของคนไทยไปปรากฏในเวทีโลกต่อไป” ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าว