นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน ได้ติดตามผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งยูเครน – รัสเซีย รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาและลดผลกระทบ ในส่วนของกระทรวงแรงงานออกมาตรการลดเงินสมทบทั้งในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตนทุกมาตรา ทั้งมาตรา 33,39 และ 40 เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ค. – ก.ค. 2565 โดยประชาชนได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการนี้ประมาณ 24.2 ล้านคน เม็ดเงินประมาณ 34,540 ล้านบาท เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งมาตรการลดเงินสมทบในครั้งนี้ทำให้มีผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11.2 ล้านคน ได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 5 เหลือ ร้อยละ 1 หากคิดบนฐานเงินเดือน 15,000 บาท จากเดิมต้องส่งเงินสบทบ 750 บาท จะลดลงเหลือส่งเงินสมทบ 150 บาท ทำให้สามารถลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 600 บาทต่อคนต่อเดือน ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1.9 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบจากเดิม 432 บาท ลดลงเหลือ 91 บาท หรือลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 341 บาทต่อคนต่อเดือน และผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 10.6 ล้านคน ทางเลือกที่ 1 ลดลงเหลือ 42 บาท ทางเลือกที่ 2 ลดลงเหลือ 60 บาท และทางเลือกที่ 3 ลดลงเหลือ 180 บาท หรือลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 84 - 360 บาทต่อคนต่อเดือน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังกล่าวถึงการลดเงืนสมทบในส่วนของนายจ้างจำนวน 5 แสนราย ได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 5 เหลือ ร้อยละ 1 ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิตของนายจ้างลง หากนายจ้างจ่ายค่าจ้างบนฐานเงินเดือน 15,000 บาทต่อลูกจ้าง 1 คน หากนายจ้างมีลูกจ้าง 1,000 คน จะสามารถลดต้นทุนการผลิตของนายจ้างต่อเดือนลงถึง 600,000 บาท รวมระยะเวลา 3 เดือน เป็นเงินทั้งสิ้น 1,800,000 บาท จึงวิงวอนและขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อย่าเพิ่งขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อเป็นการช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแก่ประชาชนและผู้ใช้แรงงาน เพื่อให้เราทุกคนก้าวข้ามสถานการณ์ครั้งนี้ไปด้วยกัน