นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยต่อคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา ที่เดินทางมาตรวจติดตามราชการในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีในวันนี้ ว่า จากการที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เปิดรับนักท่องเที่ยวภายใต้สถานการณ์โควิด –19 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ปรากฏว่า มีนักท่องเที่ยเดินทางเข้ามาแล้วกว่า 33,000 คน สร้างวรายได้สู่จังหวัดสุราษฎร์ธานีกว่า 650 ล้านบาท
ขณะที่โครงการก่อสร้างท่าเรือสำราญของจังหวัดสุราษฎร์ธานี นั้น ที่ผ่านมาไทยเราเสียโอกาสจากธุรกิจเรือสำราญให้กับประเทศในภูมิภาคนี้อย่าง เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนิเซีย เวียดนาม หากมีท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise) ในพื้นที่เกาะสมุย ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์อย่างมาก ซึ่งจากการศึกษาความเหมาะสมของกรมเจ้าท่า ท่าเทียบเรือสำราญจะมีเรือเข้าเทียบ 158 ครั้ง/ปี นำนักท่องเที่ยวเข้ามา 500,000 คน/ปี สร้างรายได้ให้กับประเทศประมาณ 2,000 ล้านบาท/ปี เฉลี่ยคนละ 5,000 บาท) ตามแผนคาดว่า เปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2570
ทั้งนี้ ในส่วนของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เห็นว่าหากกรมเจ้าท่า ได้ก่อสร้างท่าเรือสำราญบริเวณแหลมหินคม ตำบลตลิ่งงาม อำเภอเกาะสมุย ก็จะเป็นการตอบสนองยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ด้านการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ทางทะเลที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และเป็นการเพิ่มโอกาสการท่องเที่ยวทางทะเลในภูมิภาคนี้ เนื่องจากปัจจุบัน หากมีเรือสาราญจะเดินทางเข้ามายังเกาะสมุยต้องลอยลำกลางทะ และขนถ่ายคนด้วยเรือขนาดเล็กทำให้เสียเวลาและไม่ปลอดภัย นักท่องเที่ยวบางส่วนจึงไม่ลงจากเรือสำราญ ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาเกาะสมุย พบว่าในปี 2561 มีเรือสำราญ จำนวน 78 ลำ ปี 2562 จำนวน 62 ลำ ปี 2563 จำนวน 24 ลำ สำหรับปี 2564 จนถึงปัจจุบันยังไม่มีเรือสำราญเข้ามา ซึ่งในช่วงก่อนสถานการณ์โควิค –19 แต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวทางเรือสำราญกว่า 1 แสนคน สร้างรายได้ปีละกว่า 60 ล้านบาท.