"เรืองไกร" ร้อง ป.ป.ช. สอบ คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาฯโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ปฎิบัติไม่ถูกต้อง ส่อทำรัฐเสียหาย 250 ล้าน
เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 65 จากกรณีที่ บริษัท ชิโน -ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ดำเนินการขออุทธรณ์ผลการประกาศผู้ชนะการเสนอราคาตามประกาศของ กปน. ที่ได้ประกาศให้กลุ่ม ITA Consortium เป็นผู้ชนะการประมูลงาน เมื่อวันที่ 25 เม.ย. โดยทางคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ได้มีหนังสือ กค (กอร)0405.5/14496 แจ้งผลการอุทธรณ์ มายังผู้ว่าการการประปานครหลวง ระบุว่า การอุทธรณ์ฟังขึ้น และมีผลต่อการจัดซื้อและจัดจ้างอย่างมีนัยสำคัญ
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กล่าวว่า ตามหนังสือของอธิบดีกรมบัญชีกลางลงวันที่ 21 เม.ย. 65 ที่แจ้งไปยังผู้ว่า กปน. ว่า การอุทธรณ์ของ ซิโนไทยฯ กับ วงษ์สยามก่อสร้างฯ ฟังขึ้น นั้น เรื่องนี้เกี่ยวกับเงินแผ่นดิน และตามข่าวที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ จะให้ ส.ส. พรรคภูมิใจไทย ไปร้อง กมธ. นั้นก็เป็นการทำหน้าที่ของผู้แทนปวงชาวไทย แต่ตนเห็นว่า เรื่องนี้เป็นกรณีที่ผลการพิจารณาอุทธรณ์ เป็นที่สุดแล้ว จึงควรร้องตรงไปที่ ป.ป.ช.
ทั้งนี้ หนังสือของอธิบดีกรมบัญชีกลางนั้น เป็นการวินิจฉัยในนามของ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตาม พรบ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 119 ซึ่งในวรรคสาม บัญญัติว่า "การวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด"
ในหนังสือดังกล่าว ระบุชัดว่า การอุทธรณ์ของ ซิโนไทยฯ กับ วงษ์สยามก่อสร้างฯ ฟังขึ้น และมีผลต่อการจัดซื้อจัดจ้าง อย่างมีนัยสำคัญ จึงให้ กปน. กลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผลการเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อไป
นายเรืองไกร กล่าวว่า เมื่อไม่ถูกต้อง ก็ควรต้องมีผู้รับผิดชอบ ซึ่งควรหมายถึง คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาฯ โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย
นายเรืองไกร กล่าวว่า ใน พรบ.ดังกล่าว มาตรา 120 วรรคหนึ่ง มีการวางโทษทางอาญาต่อเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบไว้ด้วย คือ จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และวรรคสอง บัญญัติว่า ผู้ใดเป็นผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ผู้นั้นต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดตามวรรคหนึ่ง
นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ มีการกล่าวอ้างว่า ผู้ยื่นราคาต่ำสุดรายที่ 1 และรายที่ 2 ตกคุณสมบัติ ข้อ 2.11 กปน.จึงประกาศให้ผู้ยื่นราคารายที่ 3 ชนะ ในราคาที่ต่อรองแล้วที่ 6,400 ล้านบาท ทั้งที่รายที่ 1 เสนอราคาที่ 6,150 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ กปน. อาจต้องจ่ายเงินแผ่นดินสูงขึ้นไปอีก 250 ล้านบาท กรณี จึงเป็นเรื่องที่จะทำให้รัฐเสียหาย
นายเรืองไกร กล่าวต่อมาว่า ตามพรป.ปปช. 2560 มาตรา 4 นั้น คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาควรถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ด้วย ดังนั้นเรื่องนี้จึงอยู่ในหน้าที่และอำนาจของ ป.ป.ช. ตามมาตรา 28 (2)
นายเรืองไกร สรุปว่า เพราะเรื่องเกี่ยวกับเงินแผ่นดินและอาจจะทำให้รัฐเสียหายถึง 250 ล้านบาท และเป็นกรณีที่มีการวินิจฉัยแล้วว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ถูกต้อง ตาม TOR ข้อ 2.11 ดังนั้นในวันที่ 27 เมย. ที่ผ่านมา ตนจึงได้ยื่นเรื่องทางไปรษณีย์ EMS ให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบต่อไปโดยเร็ว แล้ว