หากปรับขึ้นเพียง 0.25-0.50% คงไม่ส่งผลต่อความผันผวนในตลาดการเงินของโลกและของไทยมากนัก การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลายประเทศตามธนาคารกลางสหรัฐฯเป็นการแสดงถึงความวิตกกังวลต่อปัญหาเงินเฟ้ออย่างชัดเจนและเป็นการส่งสัญญาณถึงช่วงเวลาของอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นมาถึงแล้ว
"ทางการไทยควรเข้าแทรกแซงเพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทไม่ให้อ่อนค่าเร็วและแรงเกินไป แม้นว่าการอ่อนค่าของเงินบาทจะช่วยสนับสนุนการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่การอ่อนลงไปในระดับดังกล่าวในระยะเวลาอันสั้น จะทำให้ค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงมากในภาวะที่ราคาพลังงานและอาหารทรงตัวในระดับสูง ทำให้ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและธุรกิจขนาดย่อมขนาดเล็กปรับตัวไม่ทัน" ดร.อนุสรณ์ กล่าว
ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า การใช้มาตรการ Open Market Operation แทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตรา ซื้อเงินบาท ขายดอลลาร์ น่าจะเพียงพอในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้าโดยยังไม่จำเป็นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมระหว่างประเทศพึงตระหนักถึงความจำเป็นต้องบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และ ต้องบริหารความเสี่ยงการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศให้ดีในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น
อย่างไรก็ตาม ช่วงปลายปีนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (กนง.) อาจต้องเริ่มทบทวนการปรับเปลี่ยนทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายหากอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงกว่ากรอบเป้าหมายทางนโยบายด้านบนมากๆ แต่เชื่อมั่นว่า ประเทศไทยจะไม่เผชิญปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงเหมือนบางประเทศ
"รัฐบาลต้องเข้าแทรกแซงราคาพลังงานหากราคาน้ำมันเบนซินสูงเกินกว่า 50-55 บาทต่อลิตร และ ราคาดีเซลเกินกว่า 35-40 บาทต่อลิตร หาหรัฐบาลไม่ทำ จะสกัดราคาสินค้าและบริการต่างๆ พุ่งไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อครอบครัวผู้มีรายได้น้อย รับค่าครองชีพพุ่งสูงไม่ไหวต้องก่อหนี้เพิ่ม" ดร.อนุสรณ์ กล่าว
ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มสูงขึ้น ตัวเลขล่าสุดของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลยังคงขยายตัวสูงจากการกู้ยืมมาเพื่อทดแทนสภาพคล่องจากรายได้ครัวเรือนที่ยังไม่ฟื้นตัว คาดหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี อาจทะลุระดับ 100 ได้ในช่วงปลายปีหากเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่า 3% การช่วยเหลือทางด้านสวัสดิการต่างๆเพื่อลดรายจ่ายของประชาชนจำเป็นต้องทำให้ทั่วถึงครอบคลุมผู้เดือดร้อนทางเศรษฐกิจ