นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงหน้าร้อนประกอบกับเป็นช่วงเด็กปิดเทอม เด็กๆ อาจชวนกันไปเล่นน้ำตามลำพัง โดยที่ไม่มีผู้ปกครองไปด้วย ซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุจมน้ำได้ จากข้อมูลระบบรายงานการจมน้ำ กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค ในช่วงมีนาคม-เมษายน 2565 พบเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำ 35 เหตุการณ์ เสียชีวิต 39 ราย เป็นเพศชาย 28 ราย เพศหญิง 11 ราย เป็นกลุ่มเด็กอายุ 5-9 ปี มากที่สุด (ร้อยละ 56.4) รองลงมา คือ กลุ่มอายุ 0-4 ปี (ร้อยละ 23.1) สาเหตุหลักเกิดจากเด็กชวนกันไปเล่นน้ำ (ร้อยละ 56.8) และลื่นพลัดตก (ร้อยละ 20.5) สถานที่ที่พบเหตุการณ์มากที่สุดคือ สระน้ำ และหนองน้ำตามธรรมชาติ (ร้อยละ 46.2) และจากรายงานยังพบว่า เด็กส่วนใหญ่ไม่ใช้เสื้อชูชีพหรือใช้อุปกรณ์ช่วยลอยน้ำ รวมทั้งไม่มีทักษะการเอาชีวิตรอดเมื่อตกน้ำหรือไม่รู้วิธีการช่วยคนตกน้ำหรือจมน้ำ ที่ถูกต้อง
กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิดในช่วงปิดเทอมหน้าร้อน ดังนี้ 1) ไม่ปล่อยให้เด็กๆ ชวนกันไปเล่นน้ำกันเองตามบริเวณแหล่งน้ำต่างๆ 2) หากครอบครัวพาเด็กๆ ไปพักผ่อนตามแหล่งน้ำ ขอให้ดูแลเด็กอย่าให้คลาดสายตา 3) ไม่ให้เด็กยืนใกล้บริเวณขอบบ่อ/สระ อาจพลัดตกหรือลื่นลงน้ำได้ 4) เมื่อเด็กลงเล่นน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ให้นำขวดน้ำพลาสติกเปล่าขนาด 1.5 ลิตร หรือแกลลอนพลาสติกเปล่า ปิดฝา ใช้สะพายติดตัวไปด้วย หากหมดแรงให้นำมากอดแนบหน้าอกและลอยตัวไว้ 5) เมื่อพบเห็นคนตกน้ำให้ “ตะโกน โยน ยื่น” เพื่อช่วยเหลือคนตกน้ำ “ตะโกน” เรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วยและโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 “โยน” อุปกรณ์เพื่อช่วยคนตกน้ำ เช่น เชือก ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น และ “ยื่น” อุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว เช่น ท่อนไม้ เสื้อผ้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ
นอกจากนี้ แหล่งน้ำที่จัดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ต้องมีเจ้าหน้าที่คอยดูแล มีเสื้อชูชีพให้บริการ มีกฎระเบียบให้ผู้มารับบริการทุกคนต้องสวมเสื้อชูชีพทุกครั้งที่เดินทางหรือทำกิจกรรมทางน้ำ แบ่งเขตพื้นที่สำหรับเล่นน้ำหรือทำกิจกรรมทางน้ำที่ปลอดภัย ต้องมีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำติดตั้งเป็นระยะมีเพียงพอ เข้าถึงได้ง่าย และติดป้ายแจ้งเตือน เช่น ห้ามลงเล่นน้ำ น้ำลึก น้ำวน เป็นต้น สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422