การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) วางแผนเดินหน้าขยายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องสร้างการเติบโตและความเข็มแข็งให้กับองค์กร ดันธุรกิจเสริมสู่ธุรกิจหลัก
คาดอีก 5 ปีข้างหน้าจะดำเนินการลงทุนเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้รับเหมาเอง
นายวิลาศ เฉลยสัตย์ อำนวยการฝ่ายธุรกิจบริการและคุณภาพไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวง หรือ (กฟน.)
เปิดเผยถึงแผน ดำเนินธุรกิจภายใน 5 ปีข้างหน้า หรือตั้งแต่ปี 2560-2564 ซึ่งจะเป็นการเปิดตัวทำธุรกิจการก่อสร้างผู้ดำเนินการรับเหมา และผู้ดำเนินงานเอง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผน จากนั้นจะเตรียมเสนอ
เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.พิจารณา
สำหรับในปี 2560 นี้ กฟน. จะเดินหน้าพลังงานทดแทนมากขึ้น โดยล่าสุดได้เป็นผู้ให้บริการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar rooftop) ที่ศูนย์ราชการเป็นหน่วยงานราชการ ที่ถนน แจ้งวัฒนะ ขนาด 2.2 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุนประมาณ 160 ล้านบาท คาดว่าภายใน 12ปีจะสามารถคืนทุนได้
ทั้งนี้ การให้บริการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปนั้น เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยธุรกิจบริการระบบไฟฟ้าครบวงจร ที่ปัจจุบันกฟน.ให้บริการอยู่ เช่น การให้คำปรึกษาการออกแบบ ติดตั้งระบบไฟฟ้าแรงสูง ระบบไฟฟ้าใต้ดิน การบำรุงรักษาระบบ บริการด้านวิศวกรรม ระบบอาคาร บริการด้านธุรกิจพลังงาน ซึ่งปีนี้คาดว่าจะมีรายได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12-15 % จากปีที่แล้วมีรายได้ประมาณ กว่า 2,000 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายจะแยกออกมาเป็นบริษัทภายในปี 2561 ทั้งนี้ เพื่อความคล่องตัว โดย กฟน.พร้อมจะให้บริการทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้มีหน่วยงานการไฟฟ้าของเพื่อนบ้านมาว่าจ้างให้ กฟน.ฝึกอบรมพนักงานจำนวนมาก
“กฟน.มีความพร้อมที่จะให้การบริการด้านการออกแบบประมาณราคาติดตั้ง ซ่อม และบำรุงรักษาระบบไฟฟ้า ระบบปรับอากาศระบบวิศวกรรมประกอบอาคาร การติดตั้งไฟส่องสว่างและอุปกรณ์ไฟประดับ รวมทั้งบริการด้านการบริหารจัดการพลังงานสำหรับลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ”นายวิลาศกล่าว
นายวิลาศกล่าวว่า ส่วนการขยายการให้บริการภาคราชการ ขณะนี้ กฟน.รอความชัดเจนการแก้ไขกฎระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เรื่องให้หน่วยงานราชการสามารถจ้างที่ปรึกษาบริหารจัดการพลังงาน หรือ ESCO ได้ โดยนำผลประหยัดพลังงานมาแบ่งรายได้ซึ่งกันและกัน หากมีความชัดเจนก็กระตุ้นให้เกิดการประหยัดพลังงานเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันรอเรื่องแผนใช้งบประมาณกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงานที่นำมาส่งเสริมพลังงานทดแทน 2,000 ล้านบาท แผนอนุรักษ์พลังงาน 4,000 ล้านบาท โดย กฟน.ก็พร้อมจะแข่งขันให้บริการเพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้น