พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ เดินหน้ายกระดับเกษตรกรไทยเป็นสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ ลงพื้นที่พบเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ มีผลผลิตเพิ่ม ลดต้นทุนเพาะปลูกถึง 20 % และสร้างรายได้เพิ่มกว่า 50 % จากการทำสมาร์ท ฟาร์มมิ่ง (Smart Farming) ที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาบริหารจัดการการเกษตรแบบรวมกลุ่มด้วยเครื่องจักรกลการเกษตรสมัยใหม่ ลดความเสี่ยงจากความ ไม่แน่นอนของภัยธรรมชาติ สยามคูโบต้ายืนยันให้ความร่วมมือภาครัฐ พัฒนานวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ ดึงทุกภาคส่วนขยายผลสมาร์ท ฟาร์มมิ่ง ขับเคลื่อนนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร ให้เป็นรูปธรรม ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร สร้างรายได้ยั่งยืน
ในการเยี่ยมชมคูโบต้าฟาร์ม ต.หนองอิรุณ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ครั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พบปะเกษตรกรพร้อมรับฟังแนวทางความสำเร็จของสมาร์ท ฟาร์มมิ่ง หรือนวัตกรรมทางการเกษตรสมัยใหม่ มาปรับใช้จนสามารถลดต้นทุนได้ถึง 20 % ช่วยเพิ่มผลผลิต และสร้างรายได้ตลอดทั้งปีเพิ่มกว่า 50 % นับเป็นสิ่งที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ยืนยันได้ว่า สมาร์ท ฟาร์มมิ่ง คือ แนวทางในการช่วยให้เกษตรกรรับมือกับความ ไม่แน่นอนต่างๆ ได้อย่างเข้มแข็ง ช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคง แก้ปัญหาความยากจน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเกษตรกรจะมีโอกาสเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตร หรือนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ รวมถึงการเข้ารวมกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ มีความรู้การทำเกษตร การใช้ที่ดินอย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูงที่ตรงความต้องการของตลาดสามารถแข่งขันได้
โดย นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สรุปสาระสำคัญจากการที่นายกรัฐมนตรีรับฟังโครงการความร่วมมือการพัฒนาสมาร์ท ฟาร์มมิ่ง เพื่อเพิ่มผลผลิตและแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรจากสยามคูโบต้าว่า “รัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและภาคการเกษตรของไทย จึงนับเป็นโอกาสดีที่ได้มา คูโบต้าฟาร์ม ซึ่งเป็นต้นแบบของเกษตรทันสมัย หรือ สมาร์ท ฟาร์มมิ่ง พร้อมเน้นย้ำว่า “ภาคการเกษตร คือ อนาคตของประเทศไทย” ที่มีการทำการเกษตรมายาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นต้องช่วยกันหาแนวทางเพื่อทำให้สิ่งที่เป็นอยู่ดั้งเดิมมีมูลค่าสูงขึ้น” ในการนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายการขับเคลื่อนนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรแบบครบวงจร การส่งเสริมเครื่องจักรกลการเกษตร การบริหารจัดการเกษตรแปลงใหญ่ การดำเนินการของวิสาหกิจชุมชนที่สอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละพื้นที่ และการบริหารจัดการน้ำ เพื่อยกระดับภาคการเกษตรภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งเน้นย้ำช่วยลดปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร ซึ่งเป็นต้นเหตุของฝุ่นควัน PM 2.5 ส่งเสริมให้เกิดเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยีทางการเกษตร ด้วยเทคโนโลยีมีการจัดการพื้นที่เกษตรเชิงรุก อะกริแมพ (Agri-map) และขยายพื้นที่การติดตั้งอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยพิเศษหรือเงินอุดหนุนแก่เกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer เพื่อนำไปบริหารจัดการหรือให้บริการเครื่องจักรกลการเกษตรในพื้นที่ ตลอดจนสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าถึงเครื่องจักรฯ โดยการรวมกลุ่มใช้/ การจับคู่ (Matching) เป็นต้น เชื่อมั่นว่าหากมีการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขจัดความยากจน สร้างความมั่นคงในอาชีพและรายได้ให้แก่พี่น้องเกษตรกรอย่างยั่งยืน