นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า สาเหตุอาจเกิดจากการติดเชื้อที่เข้าทำลายสมอง ส่วนใหญ่เกิดจากไวรัสหรือผ่านระบบภูมิคุ้มกันที่ทำงานผิดปกติเข้าทำลายเนื้อสมอง ซึ่งอาจเกิดจากภูมิต้านทานตนเองหรือเกิดตามหลังการติดเชื้อ พบได้ในทุกคนทุกวัย ชนิดของเชื้อไวรัส เช่น ไข้สมองอักเสบจากการติดเชื้อเจอี เชื้อเริม หรือ เชื้อสุนัขบ้า โรคไข้สมองอักเสบเกิดจากภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ เช่น โรคสมองอักเสบชนิดเอ็นเอ็มดีเอ ซึ่งมักพบในผู้หญิงอายุน้อย และอาจพบร่วมกับเนื้องอกรังไข่ โรคไข้สมองอักเสบภูมิต้านตนเองบางชนิด เช่น โรคไข้สมองอักเสบหลายตำแหน่งที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน(ADEM) มักพบหลังการติดเชื้อ ซึ่งโรคไข้สมองอักเสบจากภูมิต้านตนเองจะมีหลายชนิด ขึ้นกับชนิดของแอนติบอดีที่จำเพาะต่อตัวรับสารสื่อประสาทในสมอง เช่น ตัวรับ NMDA หรือตัวรับของไอออนโปตัสเซียม แอนติบอดีเหล่านี้ถูกผลิตขึ้นในผู้ที่มีโรคไข้สมองอักเสบภูมิต้านตนเองที่ยังไม่ทราบแน่ชัด จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ
นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว และจะมีอาการรุนแรงมากขึ้น ร่วมกับมีอาการผิดปกติทางสมองและระบบประสาท เช่น สูญเสียความจำ และมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น มีภาวะประสาทหลอนคล้ายกับผู้ป่วยจิตเภท หวาดกลัวโดยไม่มีสาเหตุ บางรายอาจมีอาการชักหรือการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ หากไม่ได้รับการรักษาอาจอันตรายถึงชีวิตได้ การวินิจฉัยจะต้องทำการซักประวัติผู้ป่วยอย่างละเอียด เพื่อหาสาเหตุการอักเสบจากการติดเชื้อหรือภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ โดยการตรวจเอ็มอาร์ไอ การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง(EEG) และการตรวจน้ำไขสันหลังและเลือดเพื่อหาเชื้อไวรัสหรือหาภูมิต้านทานที่ผิดปกติ การรักษาขึ้นกับสาเหตุของโรคหากเป็นการติดเชื้ออาจจำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัสหรือยาปฏิชีวนะ และหากเป็นสาเหตุจากภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติก็อาจต้องให้ ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น สเตียรอยด์ หรือการรักษาโดยการแลกเปลี่ยน พลาสม่า การวินิจฉัยและรักษาได้เร็วช่วยลดอัตราเสี่ยงต่ออาการที่อาจรุนแรงมากขึ้น ภาวะแทรกซ้อน รวมไปถึงการเสียชีวิตด้วย