เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 65 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทุกช่วงวัย และจัดระบบสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันและความมั่นคงในชีวิต ซึ่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้เน้นย้ำเรื่องการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำด้วยการสร้างหลักประกันทางสังคมแบบพุ่งเป้า
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ขานรับนโยบายของรัฐบาลดำเนินการงานเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยแบบพุ่งเป้าในระดับพื้นที่ ตามโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน โดยได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง 12 กระทรวง 1 หน่วยงาน เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการวางแผนและบูรณาการการให้ความช่วยเหลือและส่งเสริมกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มด้อยโอกาสให้พ้นภาวะวิกฤต เน้นการให้บริการด้านสวัสดิการสังคมแก่กลุ่มเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรมครอบคลุม 5 มิติ ได้แก่ มิติความเป็นอยู่ สุขภาพ การศึกษา รายได้ และการเข้าถึงบริการภาครัฐ ผ่านกลไกการขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ คือ “ศูนย์ช่วยเหลือสังคม” ซึ่งจะใช้สมุดพกครอบครัวเป็นเครื่องมือในการดำเนินงานและขับเคลื่อน ทั้งนี้ ในปี พ.ศ 2565 มีเป้าหมายในการดำเนินการแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าตามโครงการฯ จำนวน 615,706 ครัวเรือน เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
นางสาวรัชดา กล่าวว่า การดำเนินงานของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ นับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลแล้ว จำนวน 4,978 ศูนย์ ในพื้นที่ 76 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 68.8 ของตำบลทั่วประเทศ สามารถช่วยเหลือประชาชนทั่วไปที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนทางสังคมได้ จำนวน 123,496 คน และครัวเรือนเปราะบาง จำนวน 13,111 ครัวเรือน ทั้งนี้ ได้มุ่งเน้นการทำงานแบบองค์รวม โดยเชื่อมโยงกลไกระดับพื้นที่ เช่น ภาคประชาชร ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมถึงเครือข่ายอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในระดับพื้นที่ ตามนโยบายของรัฐบาลที่เน้นการทำงานแบบบูรณาการ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น