สทนช. เผยความก้าวหน้าในการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์และแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (Strategic Environmental Assessment : SEA) 10 จังหวัดลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ครอบคลุม 36 ลุ่มน้ำสาขา เพื่อเป็นกรอบการวางแผน บริหารจัดการน้ำเชื่อมโยงทั้งระบบ บรรเทาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับน้ำในพื้นที่ ทั้งภัยแล้ง อุทกภัย ดินถล่ม รวมถึงการจัดสรรและกระจายน้ำอย่างทั่วถึงและเพียงพอ
นายสราวุธ ชีวะประเสริฐ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า สทนช. ได้จัดทำการศึกษาโครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์และแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้การพัฒนาของลุ่มน้ำสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ หรือมีผลกระทบในระดับที่ยอมรับได้ และเป็นไปตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) พร้อมทั้งจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จัดลำดับความสำคัญของโครงการพัฒนาในอนาคต การป้องกันอุทกภัยและการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เพื่อเป็นกรอบการดำเนินการบริหารจัดการน้ำของลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือสำหรับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการ ลดความซ้ำซ้อนของแผนงาน และกำหนดกรอบแนวทาง การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
“โครงการนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากกรณีที่ สปป.ลาว ประกาศจะสร้างเขื่อนขึ้นมาอีก 2 เขื่อน ทำให้ประเทศไทยต้องเตรียมรับมือ แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ อยู่ระหว่างการเจรจาเรื่องการแบ่งน้ำ ในลุ่มน้ำโขง เช่นการแจ้งการปล่อยน้ำ การกักน้ำ เพื่อจะได้ไม่ให้เกิดผลกระทบ ซึ่งไทยได้ให้ทาง สปป.ลาวส่งข้อมูลการจัดการด้านน้ำเข้ามาให้เพิ่มเติม เนื่องจากของเก่าที่ส่งมายังไม่เพียงพอกับการที่เราจะประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้น”นายสราวุธกล่าว
“ด้วยสถานการณ์ด้านทรัพยากรน้ำในปัจจุบัน รวมถึงความสำคัญของลุ่มน้ำ และสภาพปัญหาของพื้นที่ ส่งผลให้มีความจำเป็นต้องเร่งรัดวางแผนบริหารจัดการน้ำทั้งระบบลุ่มน้ำ ต้องบริหารจัดการการใช้ประโยชน์และจัดสรรน้ำตามความต้องการของประชาชน การพัฒนาของเมืองและชนบท การใช้น้ำเพื่อการพัฒนาภาคส่วนต่าง ๆ การเกษตร การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังต้องอนุรักษ์น้ำสำหรับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และระบบนิเวศ ตลอดจนเพื่อการแก้ไขปัญหาจากภัยธรรมชาติ น้ำท่วม น้ำแล้ง คุณภาพน้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาชุมชน ความเป็นอยู่ การกินดีอยู่ดี นอกจากนี้ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือมีความเกี่ยวข้องกับลุ่มน้ำระหว่างประเทศ จึงต้องพิจารณาบริบทการใช้น้ำระหว่างประเทศ และต้องเชื่อมโยงข้อมูลการบริหารจัดการน้ำกับประเทศเพื่อนบ้าน”
อย่างไรก็ตามการดำเนินการของ สทนช. ในครั้งนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ตามเป้าหมายของการพัฒนาที่ว่า สร้างความมั่นคงของทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วม และมีความเชื่อมโยงกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ทั้ง 6 ด้าน เพื่อขับเคลื่อนให้การดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมาย อันประกอบด้วย 4 ประเด็นยุทธศาสตร์ คือ 1. การจัดหาและจัดสรรทรัพยากรน้ำอย่างเป็นธรรม และมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของผู้ใช้น้ำ 2. การป้องกัน คุ้มครอง และฟื้นฟูการให้บริการระบบนิเวศที่เชื่อมโยงกับทรัพยากรน้ำโดยการมีส่วนร่วมระหว่างผู้ใช้น้ำ 3. การส่งเสริมการปรับตัวของผู้ใช้น้ำต่อปัญหาด้านทรัพยากรน้ำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 4. การสร้างความเข้มแข็ง และส่งเสริมศักยภาพการบริหารจัดการลุ่มน้ำ
สำหรับพื้นที่ศึกษาลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย 36 ลุ่มน้ำสาขา ที่แบ่งเป็น 9 กลุ่มลุ่มน้ำสาขา ครอบคลุม 10 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี รวมพื้นที่ 47,165.08 ตร.กม หรือ 29.8 ล้านไร่