นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงโครงการจัดทำฐานข้อมูลประจำตัว การเก็บตัวอย่างพันธุกรรม (DNA) และน้ำเชื้อ (Sperm Bank) เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมในช้างเลี้ยงและเพิ่มโอกาสการขยายพันธุ์ช้างด้วยวิธีการผสมเทียมว่า องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดทีมสัตวแพทย์และผู้ช่วยสัตวแพทย์จากสวนสัตว์เปิดเขาเขียวร่วมกันรีดน้ำเชื้อจากพลายคำน้อย อายุ 40 ปี ที่อาศัยอยู่ภายในโครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์ วางช่วงวันรีดน้ำเชื้อระหว่างวันที่ 24 - 26 พฤษภาคม โดยกระบวนการเก็บน้ำเชื้อของทีมสัตวแพทย์ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯต้องใช้ความระมัดระวังทุกขั้นตอน ซึ่งเริ่มตั้งแต่การเก็บน้ำเชื้อจากช้างเพศผู้ การประเมินคุณภาพน้ำเชื้อ การเก็บรักษาน้ำเชื้อทั้งในรูปน้ำเชื้อแช่เย็นและแช่แข็ง การตรวจหาวงรอบการเป็นสัดและวันตกไข่ของช้างเพศเมีย การผสมเทียม การตรวจการตั้งท้อง การดูแลจนถึงกำหนดคลอด ทั้งนี้ การรีดน้ำเชื้อช้างครั้งนี้เป็นช่วงเวลาที่มีความพร้อมต่อการเก็บน้ำเชื้ออย่างมาก แม้ต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากพลายคำน้อยอยู่ในช่วงตกมัน แต่การรีดน้ำเชื้อจะช่วยลดความเสี่ยงด้านการผสมพันธุ์ระหว่างช้างกับช้างได้มาก และลดการเกิดอุบัติเหตุได้มากที่สุด ที่ผ่านมาองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯเคยประสบความสำเร็จการผสมเทียมช้างครั้งแรกเมื่อปี 2562 ณ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ส่วนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ของประเทศไทย รองจากสถาบันคชบาลแห่งชาติ จังหวัดลำปาง องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ที่ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศเมื่อปี 2550
ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย กล่าวย้ำว่า ขอเชิญประชาชนทุกคนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์และพัฒนาคุณภาพชีวิตช้างไทย ภายในโครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์ ด้วยการร่วมเป็นพ่อแม่บุญธรรมช้างไทย สนับสนุนค่าเวชภัณฑ์และค่าอาหารช้าง สำหรับผู้สนใจร่วมสนับสนุนได้ทางเลขที่บัญชี 006-0-23655-8 ธนาคารกรุงไทย สาขาวิสุทธิกษัตริย์ ชื่อบัญชี "กองทุนเพื่อหมีแพนด้า" โดยนำใบเสร็จมาลดหย่อนภาษีได้