นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ภายหลังจากกกพ. มีมติเห็นชอบประกาศการรับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) สำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัย ที่มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ ปี 2565 เป้าหมาย 10 เมกะวัตต์ ต่อเนื่องจากการดำเนินการในปี 2564 เพื่อสอดคล้องกับมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2565
ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสงค์จะขายไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ภาคประชาชนจะขายไฟฟ้าส่วนเกินให้กับสายส่งของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 5 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 5 เมกะวัตต์ ในราคารับซื้อไฟฟ้าที่ 2.20 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 10 ปี และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ตามสัญญา (SCOD) ภายใน 270 วัน นับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และหากดำเนินการไม่ทันตามกำหนดให้ยื่นหนังสือถึงการไฟฟ้าแจ้งความพร้อมเพื่อขอขยายเวลาได้อีก 90 วันก่อนยกเลิกสัญญา
อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าใช้เองโดยติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในบ้าน ที่อยู่อาศัยเพื่อบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและสามารถนำส่วนที่เหลือมาขายเข้าระบบได้ โดยเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการลดการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้า ด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ผันผวน และมีราคาสูงจากผลของภาวะวิกฤตการณ์ราคาพลังงานโลกที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้โดยคาดว่าปีนี้ ประชาชนน่าจะมีความสนใจมากกว่าเดิม เพราะด้วยความคุ้นชินแล้วจากการเปิดรับซื้อตั้งแต่ปี 2562 บวกกับที่กกพ.ได้ปรับราคารับซื้อและกฏระเบียบเพื่ออำนวยตวามสะดวกมากขึ้น
“ประชาชนน่าจะคุ้นเคยในระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งขั้นตอนก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร เพราะดูจากเทรนด์ราคาพลังงาน ประชาชนน่าจะสนใจมากขึ้น โดยข้อมูลที่ผ่านมาประชาชนเข้าโครงการไม่น้อยราว 1,000 ราย แต่จำนวนเมกะวัตต์ยังน้อยรวมราว 7 เมกะวัตต์ เฉลี่ย 1 ราย ขายไฟอยู่ที่ระดับ 5 กิโลวัตต์ เนื่องจากโครงการโซลาร์ภาคประชาชนเมื่อตรวจรีดเดอร์จะกำหนดไว้ไม่ให้เกิน 10 กิโลวัตต์ แต่ส่วนใหญ่จะได้ 5 กิโลวัตต์”
นายคมกฤช กล่าวว่า ในอดีตประชาชนที่ติดตั้งโซลาร์บนหลังคาจะนิยมติดตั้งไว้ใช้เอง แต่ปัจจุบันเมื่อมีนโยบายรับซื้อจากภาครัฐ ประชาชนจะเห็นประโยชน์จากการติดตั้งใช้เองแล้วขาย เพราะถ้าติดใช้เองแล้วไม่ขายจะถูกล็อคไม่ให้ไฟไหลย้อนกลับมา ฉะนั้น เวลาไม่ใช้ไฟอินเวอร์เตอร์ (Inverter) จะไปล็อคไม่ให้มีการผลิตไฟฟ้า ถือว่าไม่มีประโยชน์หรือถ้าไฟไหลออกไปก็ไม่ได้เงิน ดังนั้น โครงการโซลาร์ภาคประชาชนเมื่อติดแล้วขายไฟจะเป็นการช่วยให้มีรายได้ด้วย
“การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปตามที่อยู่อาศัยถือเป็นทางเลือกสำหรับประชาชนมากกว่าว่า ช่วยประหยัดไฟฟ้าในช่วงกลางวัน หรือต้องการเรื่องสิ่งแวดล้อม การติดตั้งจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ทั้งความคุ้มทุน หากเน้นใช้กลางคืนจะติดระบบแบตเตอรี่ (ESS) ที่ต้องลงทุนเพิ่ม พร้อมโครงสร้างที่เอื้อต่อการติดตั้ง มองว่าค่าไฟฟ้าปี 2565 ที่ปรับตัวสูงจะทำให้ประชาชนสนใจติดตั้งมากขึ้น”
ส่วนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา สำหรับกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาล และสูบน้ำเพื่อการเกษตร ปี 2565 กำหนดเป้าหมายการรับซื้อ 10 เมกะวัตต์ ราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบ 1.00 บาทต่อหน่วย และระยะเวลารับซื้อ 10 ปีนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างทำระเบียบใหม่ เพื่อประกาศราชกิจจานุเบกษา เนื่องจากเดิมได้ออกระเบียบและประกาศร่วมกัน ดังนั้น เมื่อมีการปรับนโยบายจึงต้องแก้ไขประกาศใหม่
อย่างไรก็ตาม กลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มโรงงาน ส่วนใหญ่มีขนาด 50 กิโลวัตต์ขึ้นไป โดยติดตั้งราว 999 กิโลวัตต์ หรือเกือบ 1 เมกะวัตต์ โดยกลุ่มนี้ไม่ต้องขายไฟก็คุ้มทุนอยู่แล้ว เพราะใช้ไฟเยอะ ดงันั้น ไม่ขายก็ไม่เสียหายอะไร มี Economy of scale ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้คำนวณผลตอบแทนการลงทุนกรณีไม่ขายไฟฟ้าไว้สูงมากอยู่ที่ 23-24% ดังนั้น ติดตั้งแล้วไม่ขายก็คุ้มค่า ซึ่งในช่วงนี้ราคาแก๊สธรรมชาติสูง รัฐบาลจึงเปิดให้มีการไหลออกเพื่อให้กลุ่มดังกล่าวที่อยากขายก็ขายได้
สำหรับโครงการโซลาร์ภาคประชาชนเกิดขึ้นเมื่อปี 2562 จำนวน 100 เมกะวัตต์ รอบที่ 2 ปี 2563 จำนวน 100 เมกะวัตต์ แต่มีผู้เข้าร่วมโครงการไม่ถึงเป้าหมาย โดยรวมทั้ง 2 รอบมีประชาชนสมัครไม่ถึง 500 ราย รวมกำลังการผลิตเพียง 3-4 เมกะวัตต์ ราคารับซื้อเพียงหน่วยละ 1.68 บาท ดังนั้นการเปิดรับซื้อไฟฟ้ารอบที่ 3 ปี 2564 กกพ.ได้ปรับราคารับซื้อเป็นหน่วยละ 2.20 บาท พร้อมปรับปริมาณรับซื้อรวมที่ 50 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ ปี 2565 กกพ. ได้ปรับปริมาณรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชนรอบที่ 4 โดยคงราคารับซื้อไว้ที่หน่วยละ 2.20 บาท แต่ปรับลดเป้าหมายการรับซื้อลง 10 เมกะวัตต์