จากกรณีการนำเสนอข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์มติชน ประจำวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 เรื่อง “มรสุมประมงไทยกลางคลื่นลมกฎหมายในวันที่รัฐต้องทบทวน” นั้นนายถาวร ทันใจ โฆษกกรมประมง ชี้แจงว่า การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing)
และการบริหารจัดการประมงทะเลทั้งระบบของประเทศไทยนั้น รัฐบาลดำเนินการภายใต้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยที่ผ่านมาภาคการประมงของไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะการณ์ของทรัพยากรประมง มาตรฐานการทำประมง และสถานการณ์การค้าสินค้าประมงโลก จึงได้มีการวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การออกใบอนุญาตทำการประมง การกำหนดวันทำการประมง การกำหนดเครื่องมือ พื้นที่การทำประมง เพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ การบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพก็เพื่อป้องปรามการฝ่าฝืนกฎหมาย ภายใต้การมีส่วนร่วมของพี่น้องชาวประมง
พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 มีวัตถุประสงค์เพื่อการจัดระเบียบการประมงของไทย ป้องกันไม่ให้เกิดการทำประมงผิดกฎหมาย รักษาทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดความยั่งยืน โดยหลังจาก ปี 2558 ประเทศไทยมีการบังคับใช้กฎหมายในการแก้ไขปัญหา IUU อย่างจริงจัง ซึ่งที่ผ่านมา มีผู้กระทำความผิดทางการประมงและได้รับบทลงโทษหลายราย ซึ่งมีการเรียกร้องว่าบทลงโทษภายใต้ พ.ร.ก.การประมง 2558 มีอัตราโทษสูงรุนแรง
เกินกว่าเหตุ กรมประมง ขอชี้แจงว่า ในอดีต พ.ร.บ. การประมง พ.ศ. 2490 ไม่มีข้อกำหนดในการส่งเสริมมาตรการอนุรักษ์ หรืออัตราโทษให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป จึงไม่สามารถป้องกันและยับยั้งไม่ให้เกิดการกระทำผิดได้และไม่สามารถบริหารจัดการทรัพยากรประมงได้ตามหลักสากลมีเรือประมงที่ไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องลักลอบออกไปทำการประมงทั้งในและต่างประเทศ และถูกจับกุมส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศเป็นเหตุให้ประเทศไทยถูกประเทศต่าง ๆ มองว่าไม่มีการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเลได้อย่างยั่งยืน
และไม่สามารถลงโทษผู้กระทำความผิดได้นั่นเอง ดังนั้น พ.ร.ก.การประมง ฉบับปัจจุบัน จึงได้ระบุถึงมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรประมงและความผิดและโทษไว้อย่างชัดเจน เช่น ตามมาตรา 70 ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสามสิบล้านบาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือประมง หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า และต้องได้รับโทษทางปกครอง เช่น เรียกคืนใบอนุญาตทำการประมง กักเรือ เป็นต้น ซึ่งบทลงโทษดังกล่าวมีเจตนารมณ์เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพและป้องปรามการฝ่าฝืนกระทำความผิด รวมทั้งป้องกันไม่ให้ผู้กระทำผิดได้รับประโยชน์จากการกระทำผิดด้วย ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อการทำประมงที่ถูกกฎหมายตามวิถีของพี่น้องชาวประมงแต่อย่างใด ประกอบกับประเทศไทยเป็นประเทศสมาชิกใน The law of the Sea และการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติสากล (IPOA) ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ซึ่งมีข้อระบุว่ากฎหมายจะต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับ IPOA ด้วย อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติการควบคุมการทำประมงโดยการใช้กฎหมายนั้น ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้วยความเข้มแข็งใช้หลักการทำงาน 3 ป. คือ ป้อง ปราม และปราบ ตามนโยบายของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นอกจากนี้ ข้อเรียกร้องเรื่องปัญหาการกำหนดวันทำการประมง เพียง 240 วัน ไม่เพียงพอนั้น กรมประมง ขอชี้แจงว่า การบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดความยั่งยืน ปราศจากการทำประมง IUU กรมประมงมีการออกใบอนุญาตทำการประมงตามจุดอ้างอิงศักยภาพของทรัพยากร โดยใช้ผลผลิตสูงสุดที่ยั่งยืน หรือ MSY (Maximum Sustainable Yield) เป็นจุดอ้างอิง และคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติจะกำหนดปริมาณสัตว์น้ำทั้งหมดที่อนุญาตให้ทำการประมงได้ หรือเรียกว่า TAC (Total Allowable Catch) เพื่อนำ TAC ไปจัดสรรให้กับเรือประมงพื้นบ้านและเรือประมงพาณิชย์ แต่เนื่องจากจำนวนเรือที่มาขอรับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์มีมากกว่าปริมาณสัตว์น้ำที่สามารถจัดสรรให้ทำการประมงได้ กรมประมงจึงต้องมีมาตรการควบคุมจำนวนวันทำการประมงให้สอดคล้องกับจุดอ้างอิงของทรัพยากร โดยควบคุมเฉพาะเรือประมงพาณิชย์ที่ใช้เครื่องมือประมงประสิทธิภาพสูง ได้แก่ อวนลากคู่ อวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคานถ่าง อวนล้อมจับ อวนล้อมจับปลากะตัก อวนครอบปลากะตัก และอวนช้อน/ยกปลากะตัก ซึ่งเรือกลุ่มนี้สามารถบริหารจัดการวันทำการประมงได้ โดยเฉลี่ยให้สามารถทำการประมงได้ทั้งปี กรมประมงยังได้กำหนดแนวทางเพิ่มวันทำการประมง ด้วยวิธีการควบรวมปริมาณสัตว์น้ำซึ่งไม่กระทบต่อการบริหารทรัพยากรประมง โดยชาวประมงสามารถนำปริมาณสัตว์น้ำที่ได้รับจัดสรรของเรือลำหนึ่งไปเพิ่มให้กับเรือลำอื่น ๆ ซึ่งกรมประมงจะนำปริมาณที่ได้รับเพิ่มมาคำนวณเป็นวันทำการประมงเพิ่มเติม โดยจำนวนวันทำการประมงที่ได้รับเพิ่มเติมเป็นการเพิ่มแบบถาวรต่อเนื่องไปทุกปี ดังนั้น ในแต่ละปีการจัดสรรจำนวนวันทำการประมงจึงเพียงพอในการประกอบอาชีพและเหมาะสมต่อการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำอีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมามีเรือที่ได้รับวันทำการประมงเพิ่มโดยการควบรวมปริมาณสัตว์น้ำไปแล้วมากกว่า 1,800 ลำ มาตรการดังกล่าวจึงเป็นแนวทางที่ช่วยเหลือ
ให้พี่น้องชาวประมงทำการประมงได้มากขึ้น ส่วนกลุ่มเรือประมงที่ใช้เครื่องมือประมงประสิทธิภาพต่ำ สามารถทำการประมงได้ตลอดทั้งปี ไม่มีการจำกัดจำนวนวันทำการประมง ดังนั้น แนวทางการจัดสรรวันทำการประมง จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการทำประมงอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ การจัดสรรสัตว์น้ำโดยการกำหนดจำนวนวันทำการประมง ยังมีความสอดคล้องกับศักยภาพการผลิตของสัตว์น้ำในธรรมชาติที่สามารถจับมาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งตลอดระยะเวลา 7 ปีที่มีการประเมินค่า MSY พบว่า มีความสอดคล้องกับค่า CPUE หรือค่าอัตราการจับสัตว์น้ำในน่านน้ำไทยโดยใช้เรือสำรวจของกรมประมงที่เพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2558 เท่ากับ 35.17 กก./ชั่วโมง ในปี 2563 เพิ่มเป็น 52.55 กก./ชั่วโมง ซึ่ง CPUE เป็นดัชนีบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำ การเพิ่มขึ้นของอัตราการจับสัตว์น้ำแสดงให้เห็นว่าทรัพยากรสัตว์น้ำมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ถึงแม้ว่าในช่วงปี 2564 เรือประมงบางส่วนอาจจะได้รับผลกระทบจากสถานการโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) จึงออกทำการประมงได้น้อยลง จึงมีผลจับสัตว์น้ำลดลงไปบ้างเล็กน้อย แต่เมื่อคิดเป็นอัตราการจับต่อการทำการประมงพบว่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญดังกล่าวแล้ว แสดงให้เห็นว่ามาตรการแก้ไขปัญหา IUU ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น และการแก้ไขปัญหา IUU ไม่ได้ส่งผลให้ปริมาณสัตว์น้ำลดลงแต่อย่างใด
ในส่วนของเรือประมงพื้นบ้าน ปัจจุบันมีเรือประมงพื้นบ้านที่มาขึ้นทะเบียนรวมทั้งสิ้น 50,645 ลำ (ข้อมูล ณ เมษายน 2565) ซึ่งที่ผ่านมากรมประมงและกรมเจ้าท่าบูรณาการการทำงานร่วมกันในการเร่งจดทะเบียน เพื่อนำเรือประมงพื้นบ้านเข้าสู่ระบบให้สามารถดำเนินการตามมาตรการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังในการทำประมงได้ เพื่อประโยชน์แก่ชาวประมงในการรับความช่วยเหลือจากทางภาครัฐ สำหรับการส่งออกสินค้าประมง ที่ถูกอ้างอิงว่าลดลงไปกว่าร้อยละ 50 นั้น เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง กรมประมงขอชี้แจงว่า การส่งออกสินค้าประมงของไทยในรอบ 10 ปี (2555 – 2564) เฉลี่ย 1.66 ล้านตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 2.16 แสนล้านบาทต่อปี โดยจากข้อมูลปริมาณการส่งออกหลังปี 2558 ซึ่งเป็นห้วงเวลาหลังการแก้ไขปัญหา IUU จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีตัวเลขการส่งออกอยู่ที่ 1.5 – 1.6 ล้านตัน มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 1.95 – 2 แสนล้านบาท ซึ่งมูลค่าการส่งออกที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นเกิดขึ้นจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราและกลไกตลาด ของประเทศคู่ค้าของไทย ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าประมงของไทยหลังการออก พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 เพื่อแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายนั้น เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ โดยสัตว์น้ำที่นำเข้ามาส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเพื่อส่งออก ถือว่าเป็นการสร้างรายได้เข้าประเทศอีกทางหนึ่ง ส่วนการนำเข้าสินค้าประมงอีกส่วนหนึ่งนั้นเป็นการนำเข้ามาเพื่อนำมาบริโภคภายในประเทศ โฆษกกรมประมงได้กล่าวในตอนท้ายว่า ทรัพยากรประมงเป็นทรัพยากรของประเทศ ดังนั้นการบริหารจัดการให้เกิดความยั่งยืนจะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศไทยสืบไป