สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง “โรคฝีดาษลิง” แม้จะยังไม่พบการระบาดในประเทศไทย โดยโรคฝีดาษลิง มีความรุนแรงน้อยกว่าไข้ฝีดาษในคน หรือไข้ทรพิษ และโอกาสการระบาด การแพร่เชื้อ ค่อนข้างต่ำ
วันนี้ (31 พ.ค. 65) นายแพทย์กิตติพันธุ์ ฉลอม ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ด้านระบาดวิทยา เปิดเผยในการแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์ ถึงสถานการณ์โรคฝีดาษลิง หรือ Monkey Pox และการเตรียมความพร้อมของจังหวัดเชียงใหม่ ว่า โรคฝีดาษลิง เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกันกับไข้ฝีดาษในคน หรือไข้ทรพิษ (Small Pox ) ซึ่งในประเทศไทยปลอดการระบาดไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 จึงได้ยุติการปลูกฝีหรือการให้วัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคฝีดาษ
โรคฝีดาษลิง เกิดจากสัตว์ฟันแทะ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก ซึ่งการที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศเตือนภัยโรคฝีดาษลิงนั้น เนื่องจากพบว่าเริ่มมีการระบาดของโรคจากสัตว์สู่คน อาการของโรคคือจะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ มีผื่นคันและมีตุ่มน้ำพุพอง ซึ่งเกือบ 100% ติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดมาก ๆ เช่น การสัมผัสบาดแผล สารคัดหลั่ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายได้เอง โดยใช้เวลาการรักษา 2-4 สัปดาห์ เมื่ออาการตุ่มน้ำเม็ดสุดท้ายตกสะเก็ด จึงจะถือว่าพ้นระยะแพร่เชื้อ อย่างไรก็ตาม ฝีดาษลิง มีความรุนแรงน้อยกว่าไข้ฝีดาษในคน หรือไข้ทรพิษ โอกาสการระบาด การแพร่เชื้อ ค่อนข้างต่ำ ขณะนี้พบระบาดแล้วใน 32 ประเทศทั่วโลก ติดเชื้อแล้วกว่า 400 ราย แต่ยังไม่พบการติดเชื้อในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ประเทศไทยได้ยกระดับการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่พบการระบาด โดยมีการคัดกรองที่ด่านเข้า-ออก ระหว่างประเทศ มีการแจกบัตรเฝ้าระวังสุขภาพ ข้อแนะนำและการสังเกตอาการ ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการประชุมเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังในสถานพยาบาล ทั้งเครือข่ายภาครัฐและเอกชน พร้อมจัดมาตรการเฝ้าระวัง ซึ่งหากเจอผู้ป่วยเข้าข่าย จะต้องรายงานให้สาธารณสุขจังหวัดทราบทันที เพื่อตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ โดยจะดูอาการ ไข้ ผื่นคัน ตุ่มน้ำใส ซึ่งหากมีอาการแพทย์จะสอบสวนโรคย้อนหลัง 21 วัน เพื่อควบคุมการระบาดต่อไป
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ / ข่าว-ภาพ
ทีมข่าวจังหวัดเชียงใหม่