ตามที่องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก เพื่อระลึกถึงจุดจุดเริ่มต้นของความร่วมมือจากนานาชาติ ในด้านสิ่งแวดล้อม อันเป็นผลจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2515 ณ กรุงสต๊อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน และในแต่ละปีโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme : UNEP) ได้กำหนดประเด็นหลัก (Theme) ในการรณรงค์เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลกให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก โดยในปี 2565 กำหนดประเด็น เรื่อง “ONLY ONE EARTH : ปกป้องโลกวันนี้ เพื่ออนาคตที่ดีของเรา”
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยในการประชุม COP26 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ประกาศการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมาย การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ. 2065 และยกระดับ NDC เป็นร้อยละ 40 และเสริมสร้างขีดความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ประเทศไทยได้ประกาศให้ BCG Model เป็นวาระแห่งชาติ และเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศอย่างครอบคลุมและยั่งยืน
โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดทำกรอบแนวคิดการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG และพัฒนาเครื่องมือเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อมุ่งสู่ Build forward Greener ปรับเปลี่ยนชีวิตวีถีใหม่ อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
อีกทั้ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหน่วยประสานงานกลางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย และยังมีภารกิจสำคัญในการดูแลภาคดูดซับของก๊าซเรือนกระจก โดยการเพิ่มพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียวของประเทศให้ได้ร้อยละ 55 ตามที่กำหนดไว้ในกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นการเพิ่มการดูดซับของก๊าซเรือนกระจกหรือ Carbon sinks ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีกระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอีกหลายหน่วยงาน ร่วมกันขับเคลื่อนการช่วยกันลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปด้วยกัน ในขณะที่ภาคการคมนาคมและการขนส่ง ได้พัฒนาการบริหารจัดการการเดินทางสำหรับประชาชนและการขนส่งด้วยระบบรางและทางน้ำ ภาคการเงินและการลงทุน ส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจสีเขียว การออกมาตรการงดเว้นภาษีสำหรับการลงทุนด้านพลังงานทางเลือก ด้านเทคโนโลยีเก็บกักก๊าซเรือนกระจกสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหญ่ลงทุนช่วยการเกษตรรายย่อยเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคการเกษตร เช่น การปลูกข้าวคาร์บอนต่ำ ส่งเสริมการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ทั้งจักรยานไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้า ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า การผลิตแบตเตอรี่ รวมถึงการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้อง เพื่อเอื้อให้เกิดการปรับเปลี่ยนการลงทุนของภาคเอกชนไปสู่ธุรกิจสีเขียวได้ง่ายขึ้น