“สมาคมเพื่อนชุมชน” โชว์ความสำเร็จ “วัดทับมา” จ.ระยอง ต้นแบบจัดการขยะอย่างยั่งยืนแปลงเศษอาหารเลี้ยงไส้เดือนทำปุ๋ย สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ชุมชน เดินหน้าขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน-สังคม ก้าวสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
นายมนชัย รักสุจริต ผู้จัดการสมาคมเพื่อนชุมชน ก่อตั้งจากความร่วมมือของ 5 ผู้ประกอบการในพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง ( กลุ่ม ปตท. เอสซีจี บีแอลซีพี กลุ่ม บ. ดาวประเทศไทย และจีพีเอสซี ) ปัจจุบันมีสมาชิก รวม17 กลุ่มบริษัท กล่าวว่า ความสำเร็จในการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนสู่ความยั่งยืน ผ่านโครงการต่างๆ ภายใต้
การดำเนินงานของสมาคมเพื่อนชุมชน ที่มีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิต ทั้งด้านการศึกษาและสุขภาพ การดูแลสิ่งแวดล้อม และการสร้างเศรษฐกิจชุมชน โดยความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายและชุมชน ในการพัฒนาต้นแบบโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ชุมชนเชิงนิเวศ โรงเรียนเชิงนิเวศ และวัดเชิงนิเวศ เพื่อขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆในอนาคต ร่วมกันเป็นเครือข่ายตามเจตนารมณ์ของสมาคมฯ ในการสร้าง “บ้านเราน่าอยู่ สังคมยั่งยืน” สู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) ในระดับสูงสุด หรือระดับ “Happiness” ในพื้นที่จ.ระยอง
“ในส่วนของการพัฒนาต้นแบบวัดเชิงนิเวศ วัดทับมา อ.เมือง จ.ระยอง เป็นความคืบหน้าที่สมาคมฯได้เข้าร่วมดำเนินการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในวัดในมิติต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วม และเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน โดยสมาคมฯ ได้เข้าไปถ่ายทอดองค์ความรู้ มาให้คำแนะนำในการพัฒนาเป็น “วัดเชิงนิเวศ” โดยวัดทับมา ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่การบริหารจัดการขยะ การตั้งธนาคารขยะพลาสติก และการมีส่วนร่วมของชุมชน และได้เล็งเห็นประโยชน์ของการเลี้ยงไส้เดือน เนื่องจากวัดมีต้นไม้ปลูกอยู่จำนวนมาก จึงมีแนวคิดการต่อยอดการจัดการขยะ โดยการเลี้ยงไส้เดือน จากการนำเศษอาหารที่เหลือจากการทำบุญมาเป็นวัตถุดิบในการเพาะเลี้ยง โดยผสมกับต้นกล้วยสับเป็นชิ้นๆ ผสมกับมูลโคนำมาเลี้ยงเป็นอาหารไส้เดือน ซึ่งจะได้ปุ๋ยมูลไส้เดือนไปใส่ต้นไม้ และมีการนำไส้เดือนไปปล่อยโคนต้นไม้ เพื่อให้ดินมีความสมบูรณ์จากปุ๋ยอินทรีย์ ช่วยลดปริมาณขยะที่มีอยู่ในวัดให้น้อยลง ส่วนปุ๋ยที่เหลือจากการใช้ในวัดได้แจกจ่ายให้ประชาชนนำไปใช้สำหรับปลูกพืชผักสวนครัว ต้นไม้ ต่อไป” นายมนชัย กล่าว
ปัจจุบัน ทางวัดได้ตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้การจัดขยะครบวงจรกระบวนการแบบ ROSES (การพัฒนาชุมชนสู่การเป็นต้นแบบการจัดการขยะอย่างยั่งยืน) โดยการเลี้ยงไส้เดือน นำปุ๋ยไปใช้ประโยชน์ และเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานของประชาชนทั่วไป เพื่อนำไปประกอบอาชีพ สร้างรายได้ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างจิตสำนึกของคนในชุมชนในการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง นับเป็นความสำเร็จของความร่วมมือ ทั้งจากสมาคมฯ หน่วยงานท้องถิ่น และชุมชน สามารถพัฒนาให้ชุมชนมีการบริหารจัดการขยะ และพร้อมขยายผลพื้นที่อื่นๆ ต่อไป