พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นสักขีพยาน 4 ฝ่ายลงนาม ปฏิญญา ปกป้อง “คลองอู่ตะเภา” ประกาศเอกราชสิ่งแวดล้อม ในวันสิ่งแวดล้อมโลก พร้อมตั้งเครือข่ายเยาวชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม
คณะกรรมการการแก้ปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดสงขลา จัดกิจกรรมสร้างจิตสำนึกด้านความเข็มแข็งของชุมชนและประกาศเอกราชสิ่งแวดล้อม “จากคลองภูมีถึงอู่ตะเภา” ณ สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 11 ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในวันที่ 5 มิถุนายน 2565 ซึ่งเป็น “สิ่งแวดล้อมโลก” โดยมี นายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในพิธี และนายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กล่าวรายงาน จากนั้นได้มีพิธีลงนามปฏิญญา 4 ฝ่าย เพื่อร่วมปกป้องคลองอู่ตะเภา ประกอบด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา,รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา, นายกเทศมนตรีตำบลทุ่งลาน และประธานเยาวชนปกป้องคลองอู่ตะเภา โดยมี พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 และนายเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา เขต 5 จ.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เป็นสักขีพยาน ก่อนจะร่วมพิธีปล่อยปลาลงในคลองอู่ตะเภา พร้อมกับกลุ่มเยาวชนกว่า 300 คน
นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กล่าวในเวทีเสวนา การประกาศเอกราชสิ่งแวดล้อม “จากคลองภูมี ถึงอู่ตะเภา” ว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้ อบจ.สงขลา ซึ่งให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม และมีนโยบายในเรื่องสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ตามยุทธศาศาตร์อยู่แล้ว จึงได้จัดสรรงบประมาณมาสนับสนุน เพราะเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี เพื่อประโยชน์ชาวสงขลาโดยรวม ดีใจที่เยาวชนมาร่วมกันในการทำหน้าที่ปกป้องและขับเคลื่อนดูแลคลองอู่ตะเภา “”
นายเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา เขต 5 จ.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์และในฐานะกรรมการการแก้ปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ตนเองเป็นเด็กบ้านนอก เกิดที่ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา สมัยเด็กชอบลงว่ายน้ำและหาปลาในคลอง “ในน้ำมีปลา ในนามีทั้งข้าวและปลา” แต่ภายหลังมีโรงงานอุตสาหกรรมมาตั้งอยู่รอบๆ คลอง ทั้งคลองภูมีและคลองอู่ตะเภา ตอนแรกก็ดีใจที่มีโรงงานจำนวนมาก ทำให้คนในชุมชนมีงานทำ แต่เมื่อมาดูเรื่องสิ่งแวดล้อมมีน้ำเสียในคลอง วันดีคืนดีมีปลาตายตลอดทั้งคลอง ระบบนิเวศน์ที่ถูกทำลายประเมินค่าไม่ได้
นอกจากนี้น้ำในคลองอู่ตะเภามีความสำคัญมาก เพราะนำมาผลิตเป็นน้ำประปา รวมถึงการเกษตรและปศุสัตว์ เมื่อเกิดมีน้ำเสียไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา ทำให้สัตว์น้ำหลายชนิดในทะเลสาบสงขลาเริ่มหายไป บางชนิดสูญพันธุ์ ถ้าปล่อยให้เป็นอยู่แบบนี้เยาวชนรุ่นหลังจะอยู่ไม่ได้แน่ จึงถึงเวลาที่พวกเราจะต้องมาร่วมกันแก้ไข เริ่มจากการตั้งคณะกรรมการการแก้ไขปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดสงขลา ซึ่งก็ได้แต่ขอความร่วมมือจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เพราะคณะกรรมการชุดนี้ไม่มีอำนาจทางกฏหมายไปบังคับ โดยโรงงานร้อยละ 90 ไม่มีปัญหาอะไร แต่มีเพียงร้อยละ10 ยังคงแอบปล่อยน้ำเสียอยู่ จึงอยากให้ทุกส่วนมาร่วมมือกันในแก้ปัญหานี้ ในลักษณะความร่วมมือ 4 ฝ่าย
ฝ่ายแรก คือตัวแทนโรงงานอุตสาหกรรม ขอให้คำนึกถึงการดูแลชุมชนและพื้นที่รอบโรงงานเหมือนบ้านของตัวเอง ฝ่ายที่สองคือภาครัฐไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมจังหวัด. หรือหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม ประมง, ปศุสัตว์ และ ชลประทาน ล้วนแล้วต้องมาดูแลแม่น้ำลำคลองทั้งสิ้น ต้องมาดูแลคุณภาพน้ำ ส่วนฝ่ายที่สามคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 22 องค์กร กับ 1 องค์การบริหารส่วนจังหวัด และฝ่ายที่สี่ ก็คือพี่น้องประชาชนและลูกหลานเยาวชนที่มาร่วมอบรม เพื่อเป็นเครือข่ายทำหน้าที่ปกป้องดูแล รักษา คลองอู่ตะเภาไว้ให้คนรุ่นต่อไป
“เมื่อ 4 ฝ่ายหลอมรวมเป็นหนึ่ง จับมือกันได้อย่างเหนียวแน่น เราก็สามารถกู้เอกราชทางด้านสิ่งแวดล้อมกลับคืนมาได้อย่างแน่นอน อีกทั้งจะเป็นต้นแบบสำหรับการอนุรักษณ์และแก้ปัญหาคลองอื่นๆ ในจังหวัดสงขลาต่อไป”
นายศิวกร วิชากิจ รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ที่ผ่านมาสภาอุตสาหกรรมจังหัดสงขลาได้ทำงานร่วมกับทางอุตสาหกรรมจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดอยู่แล้ว มีการพูดคุยกันในกลุ่มสภาอุตสาหกรรมอยู่แล้ว ในขณะเดียวกันการปฏิบัติตามกฎหมายถ้าหากใครจะเปิดโรงงานอุตสาหกรรม จะต้องมีระบบการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งมีการลงทุนเป็นเงินหลายสิบล้าน เพื่อที่จะทำให้ในเรื่องกระบวนการผลิตน้ำเสียเข้ามาที่บ่อบัดและมีการผ่านกรรมวิธีก่อนที่จะปล่องสู่แม่น้ำลำคลองได้ ซึ่งทางกลุ่มอุตสาหกรรมเองก็มีการตระหนักและมีการช่วยเหลือองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนด้วยกันในเรื่องการให้ความร่วมมือต่างๆ เพราะเราตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้
“การกิจกรรมในครั้งนี้ เราเห็นด้วยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะน้องๆ เยาวชนที่เข้าร่วมการอบรมจะได้เข้ามาช่วยกันทำหน้าที่เป็นหูเป็นตา ถ้าพบเห็นว่ามีโรงงานอุตสาหกรรมใดปล่อยน้ำเสียก็สามารถแจ้งมาที่สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลาได้ ซึ่งทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลาจะมีมาตรการในการพูดคุยกันภายใน ซึ่งจะมีการตักเตือน และมีมาตรการทางกฎหมายรองรับอยู่แล้ว”
ด้าน นายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า การลงนามปฏิญญา 4 ฝ่ายในครั้งนี้ เพื่อที่จะแสวงหาความร่วมมือกันในการแก้ปัญหา ไม่เฉพาะแค่คลองอู่ตะเภา แต่หมายถึงคลองอื่นๆ ทั้งจังหวัด เพื่อทำให้คลองในพื้นที่จังหวัดสงขลาเป็นคลองสวยน้ำใสให้ได้ ซึ่งการตั้งคณะกรรมการการแก้ปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดสงขลา ก็เพื่อปกป้องแม่น้ำลำคลองของเราให้คืนสู่สภาพที่พี่น้องประชาขนสามารถใช้ประโยชน์ได้ และคิดว่าปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอาจะมีบ้างที่เกิดจากข้อบกพร่อง แต่ไม่ใช่ความตั้งใจและความเห็นแก่ตัว เพราะเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะทำหน้าปกปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ต่อไป