เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ให้การต้อนรับ นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี พร้อมด้วย พญ.สุวรรณา ไชยชุมศักดิ์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนนทบุรี นายราชันย์ ซุ้นหั้ว น.ส.อโรชา นันทมนตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี นางนงลักษณ์ ซุ้นหั้ว น.ส.ปัณฑ์ณัฐ วีระยุทธศิลป์ รองประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนนทบุรี นายภาณุพล รัตนกาญจนภัทร และหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดนนทบุรี ในโอกาสเข้าศึกษาดูงานโครงการปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมี นางแสงจันทร์ ระวังกิจ ปลัดอบต.โก่งธนู นายพิทักษ์รัฐ ระวังกิจ ปลัดอบต.บ้านข่อย ในฐานะครู ก. โครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเองตามพระราชดำริฯ ร่วมเป็นวิทยากร ณ พื้นที่โครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี บ้านทองหล่อ 21 เขตวัฒนา
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยการพระราชทานแนวพระราชดำริ "บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง" เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืน ซึ่งมีจุดเริ่มต้นครั้งแรกที่อบต.โก่งธนู อ.เมืองลพบุรี จ.ลพบุรี โดยมีปลัดพิทักษ์รัฐ และปลัดแสงจันทร์ 2 ขุนพลเอกในการขับเคลื่อนขยายผล โดยได้มีการถอดบทเรียนในรูปแบบคลิปวีดิโอในแพลตฟอร์ม Youtube โดยสามารถค้นหาง่าย ๆ ด้วยการพิมพ์คำว่า "โก่งธนู" ทำให้สามารถศึกษาเรียนรู้ได้จากต้นฉบับโครงการฯ และผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีรวมถึงทีมงาน Staff ของจังหวัดนนทบุรี จะได้มี Contact Person เป็นที่ปรึกษา คนให้คำแนะนำที่ดี เพื่อที่จะขับเคลื่อนโครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้อย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์โครงการฯ
สำหรับ พื้นที่โครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง ตามแนวพระราชดำริฯ บ้านทองหล่อ 21 แห่งนี้ มีพื้นที่ประมาณ 2 งาน เกิดจากดำริของ ดร.วันดี ได้ซื้อเพื่อตั้งใจขับเคลื่อนโครงการฯ เมื่อ 3 ปีก่อนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 กำลังระบาดหนัก เดิมพื้นที่เป็นเนอสเซอรี่รับเลี้ยงเด็กเล็กที่ตัวอาคารมีชั้นใต้ดิน จึงปรับปรุงพื้นที่ใหม่ โดยน้อมนำหลักการเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา และทำกิจกรรมเอามื้อสามัคคีโดยตนเอง ดร.วันดี และพี่น้องชาวโก่งธนู รวมถึงภาคีเครือข่าย พื้นที่ชั้นใต้ดินเดิมมีลักษณะเป็นหลุมก็ปรับเป็นหนองน้ำ นำพันธุ์ปลามาเลี้ยง และปลูกบัวมีสายไว้รับประทาน ทำให้ได้ทั้งอาหารกาย อาหารจิต อาหารใจ โดยพืชผักสวนครัวในพื้นที่นี้มีมากกว่า 40 ชนิด เช่น กะเพรา ตะไคร้ โหระพา กล้วยน้ำว้า มะเขือขอบขาว มะเขือเจ้าพระยา มะเขือพวง มะละกอ กระชาย กระเจี๊ยบ แฟง บวบ ต้นยอ ชะอม ถั่วฝักยาวสีม่วงสิรินธร ถั่วฝักยาวลายเสือจักรพันธ์ แคนาแดง แคนาขาว พริกขี้หนูสวน มะเขือเทศ มะเขือยาว มะเขือเปราะขาว มะเขือเปราะม่วง มะกรูด มะนาว ถั่วพลู เป็นต้น
"ทำให้พื้นที่นี้จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจในการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร ที่สามารถช่วยลดรายจ่าย ทั้งค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล เพราะสุขภาพแข็งแรงจากการกินพืชผักปลอดภัยและได้ออกกำลังกายด้วยการปลูกผัก เดินเก็บผัก ได้รับวิตามินอีตอนเช้า และยังทำให้เกิดความรักสามัคคีในครอบครัว นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เพราะพืชผักเหล่านี้มีความหลากหลาย และสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์เอาไว้เป็นความมั่นคงระยะยาวให้กับเพื่อนบ้าน ให้กับตัวเราด้วย เพราะเมื่อกินไม่หมด แจกไม่หมด พืชบางชนิดสามารถแยกหน่อ เพื่อขยายพันธุ์ ส่งผลเกิดความร่มเย็นเป็นสุขให้กับโลกใบเดียวนี้ของเรา ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มออกซิเจน และความร่มเย็นของพื้นดินก็จะมากขึ้น เพราะต้นไม้ใบหญ้ายังช่วยปกคลุมความชุ่มชื้น รวมถึง “ถังขยะเปียกลดโลกร้อนและการบริหารจัดการขยะ” ในพื้นที่ครัวเรือนที่มีผักสวนครัวทุกครัวเรือนต้องทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนด้วยเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการคัดแยกขยะเปียกหรือขยะอินทรีย์ที่จะกลายเป็นปุ๋ยหมักชั้นยอด และมีฝาปิดถังเพื่อป้องกันก๊าซไข่เน่าหรือก๊าซมีเทนลอยสู่ชั้นบรรยากาศ ทุกสิ่งในพื้นที่แห่งนี้จึงล้วนแล้วแต่สร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนทั้งสิ้น” นายสุทธิพงษ์กล่าว