วันต้นไม้ประจำปีของชาติ ประจำปี 2560” เน้น“ปรับ ปลูก ป่า อย่างยั่งยืน” ตามนโยบายของรัฐบาล
นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดี กรมป่าไม้ กล่าวว่า เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ ผลกระทบและภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าระบบนิเวศขาดสมดุล อีกทั้งยังเป็นการปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญ คุณค่าและประโยชน์ของต้นไม้และป่าไม้ ซึ่งจะก่อให้เกิดความรักและหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ของชาติ
กรมป่าไม้ ได้ดำเนินการปลูกฟื้นฟูพื้นที่ป่าทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ในปีที่ผ่านมาได้ดำเนินการปลูกฟื้นฟูป่าในพื้นที่ป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพ 13 จังหวัด เนื้อที่ 48,226 ไร่ และปลูกฟื้นฟูในพื้นที่ที่เหลืออีก 22 จังหวัด เนื้อที่ 20,986 ไร่ รวมทั้งสิ้น 35 จังหวัดทั่วประเทศ เนื้อที่รวม 69,212 ไร่
สำหรับในปีนี้ กรมป่าไม้ ได้กำหนดจัดงานวันต้นไม้ประจำปีของชาติขึ้น ในวันที่ 1 มิถุนายน 2560 ซึ่งจะไม่ตรงกับวันต้นไม้ประจำปีของชาติ เนื่องจากปีนี้ช่วงฤดูฝนมาช้ากว่าปกติ เพื่อเป็นการรักษากล้าไม้ที่จะนำไปปลูกฟื้นฟู ที่อาจจะมีโอกาสรอดเจริญเติบโตต่อไปจากสาเหตุการขาดน้ำตามธรรมชาติ จึงได้เลื่อนการจัดงานออกไปตามวันดังกล่าวข้างต้น สำหรับพื้นที่ที่จะดำเนินการปลูกฟื้นฟูจะอยู่ใน พื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่สอด ท้องที่บ้านหัวฝาย ม.2 ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก รวมเนื้อที่ 2,541 ไร่
โดยจะนำร่องปลูกพื้นฟูก่อนบนเนื้อที่ 70 ไร่ จากนั้นจะดำเนินการปลูกป่าอย่างต่อเนื่องจนเต็มพื้นที่ สำหรับในปีนี้กรมป่าไม้ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางในการปลูกป่าเพื่อก่อให้เกิดความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “ปรับ ปลูก ป่า อย่างยั่งยืน” โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน จะส่งผลให้ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากป่า อย่างยั่งยืน ซึ่งการปรับวิธีการปลูกในรูปแบบที่ต่างไปจากเดิมตามแนวคิดข้างต้น คือ “ปรับ” หมายถึงการเปลี่ยนระบบการส่งเสริมการปลูกป่าจากเดิม ที่กรมป่าไม้จะเป็นผู้กำหนดให้ประชาชนในเรื่องของพื้นที่ปลูก การเลือกชนิดพันธุ์ไม้ที่จะนำไปปลูกในพื้นที่ มาเป็นการให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม ตั้งแต่การประชุม เพื่อสร้างความร่วมมือ ตลอดจนการลงพื้นที่เพื่อไปสร้างความรู้ความเข้าใจถึงสาเหตุในการขอใช้พื้นที่ป่า
เสื่อมโทรมในการนำกลับมาฟื้นฟูสภาพป่า การให้กลุ่มชุมชนในท้องถิ่นได้มีโอกาสเลือกชนิดพันธุ์ไม้ ที่ตนเองต้องการปลูก ภายใต้การแนะนำของเจ้าหน้าที่รัฐ "ปลูก" คือการดำเนินการปลูกตามพื้นที่ต่างๆ โดยแบ่งเป็น 2 พื้นที่ คือ 1. พื้นที่ในการปลูกเพื่อการฟื้นฟูระบบนิเวศในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม โดยการใช้ พันธุ์ไม้ป่าดั้งเดิมควบคู่ไปกับการปลูกไม้ที่ให้ผลเก็บกินได้ และไม้ใช้สอย เพื่อในอนาคตจะเป็นอาหารให้กับคนในชุมชน และเกิดเป็นป่าธรรมชาติที่มีความหลากหลายทางระบบนิเวศ 2. การปลูกไม้เศรษฐกิจในพื้นที่ ที่มีเอกสารสิทธิที่ถูกต้องของกลุ่มเกษตรกร กรมป่าไม้ได้ลงไปให้คำแนะนำในเรื่องของการปลูกป่าแบบ วนเกษตร (ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง) คือการปลูกไม้เศรษฐกิจโดยการแนะนำการปลูกไม้โตเร็ว เช่น กระถินณรงค์ลูกผสม กระถินเทพา กระถินยักษ์ ยูคาลิปตัสฯ ซึ่งเป็นไม้โตเร็ว ปลูก 3 ปี ก็สามารถตัดไม้เพื่อส่งขายไปยังโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ไม้เป็นวัตถุดิบ ผสมกับการปลูกพืชเกษตรหลายชั้นเรือนยอด เช่น ขิง ข่า พริก กล้วย ขนุน และไผ่ เพื่อให้เกษตรกรได้มีรายได้ระหว่างรอไม้เศรษฐกิจโตเหมาะสมกับการนำไปใช้ประโยชน์ กรมป่าไม้พร้อมที่จะเข้ามาส่งเสริมให้ชุมชนปลูกไม้เศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น
จากการดำเนินการตามวิธีการ “ปรับ ปลูก ป่า อย่างยั่งยืน” ในครั้งนี้จะส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการปลูกป่าทั้งทางตรงและทางอ้อม ในกลุ่มเกษตรกรสามารถมีรายได้จากการที่กรมป่าไม้ เข้าไปส่งเสริมการทำป่าเศรษฐกิจ และมีรายได้เสริมการจากเก็บพืชทางการเกษตรนำไปขายในช่วง รอไม้เจริญเติบโต ในส่วนของการฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมยังจะช่วยในเรื่องของการฟื้นฟูระบบนิเวศ จะมีอาหารจากป่าชุมชนเกิดขึ้นในอนาคต ให้ประชาชนสามารถเข้าไปเก็บหาของป่าตามข้อตกลงของ ป่าชุมชน รัฐจะ ได้พื้นที่ป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์กลับคืนมา กรมป่าไม้เองมุ่งเน้นให้เกิดการมีส่วนร่วมจาก ภาคประชาชนเพื่อให้การส่งเสริมการปลูกฟื้นฟูป่า และเพิ่มพื้นที่ป่าอย่างเป็นระบบให้มีประสิทธิภาพและ ยั่งยืนต่อไป
ในปี 2560 กรมป่าไม้ได้กำลังดำเนินการปลูกฟื้นฟูป่าในพื้นที่ป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพ 13 จังหวัด เนื้อที่ 65,912 ไร่ และปลูกฟื้นฟูในพื้นที่ที่เหลืออีก 25 จังหวัด เนื้อที่ 23,567 ไร่ รวม 38 จังหวัดทั่วประเทศ เนื้อที่รวม 89,479 ไร่