สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เปิดเวทีเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ เห็นคุณค่า และความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพให้ประชาชนและเยาวชนคนรุ่นใหม่ หวังกระตุ้นการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า
นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จํากัด (มหาชน) , บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) , การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย , สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย และมูลนิธิโลกสีเขียว เปิดเวทีเสวนา "การสร้างความเป็นพันธมิตร การฟื้นฟูสีเขียว เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน เพื่อเราทุกคน” เนื่องในวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ประจำปี 2565 เพื่อแสดงถึงบทบาทและการมีส่วนร่วมของไทยในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ เห็นคุณค่า และความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพให้ประชาชนและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่ผ่านมาไทยพบทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพยังถูกคุกคามจากใช้ประโยชน์ที่ไม่เหมาะสมของมนุษย์เพิ่มมากขึ้น รวมถึง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษและชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน จึงทำร่างพระราชบัญญัติความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ ที่ครอบคลุมการส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน // การแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม // มุ่งเน้นการสร้างแรงจูงใจให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชนและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านมาตรการและกลไกต่างๆ เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศ สอดคล้องกับนโยบายประเทศในการขับเคลื่อน Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG โมเดล ถือเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมใน 3 มิติ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวย้ำว่า การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 ในปีนี้ ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน จะพิจารณากรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลกภายหลังปี 2020 และวิสัยทัศน์ระยะยาวปี 2050 ซึ่งทุกประเทศและไทยจะใช้เป็นกรอบดำเนินการจัดทำแผนกลยุทธ์เพื่อบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพในระดับประเทศต่อไป