ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้าปรับสูงขึ้นในปีนี้ เป็นผลมาจากโครงการสร้างการผลิตไฟฟ้าของไทย ที่ยังพึ่งพาการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า หรืออยู่ที่สัดส่วนประมาณกว่า 60% ของการผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะมีการนำเข้าแอลเอ็นจีในสัดส่วนที่มากกว่าเดิม ซึ่งการปรับขึ้นค่าเอฟที ยังต้องรอประเมินสถานการณ์ค่าเชื้อเพลิงที่แท้จริงอีกครั้งในช่วงกลางเดือน มิ.ย.นี้ และยังไม่รวมกับภาระที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่เข้ามาช่วยแบกไว้อีกกว่า 80,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ได้วางแผนการบริหารจัดการในระยะสั้น เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาต้นทุนค่าไฟแพง โดยจะยืดอายุโรงไฟฟ้าที่จะปลดระวางออกไปก่อน ได้แก่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8 จากเดิมปี2564 มาเป็นปี 2565 และโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 9-11 เลื่อนเป็นปี 2568 เพื่อลดการนำเข้าแอลเอ็นจีราคาแพงมาผลิตไฟฟ้า รวมถึงออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) แล้ว 30 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 60 เมกะวัตต์ รวมปริมาณ 100 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ กกพ.ยังเสนอภาครัฐปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าเพื่อรับมือกรณีเกิดวิกฤติต้นทุนค่าเชื้อเพลิงผัวผวน โดยเสนอหลักเกณฑ์การคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติภายใต้การกำกับของ กกพ. (Energy Pool Price) ที่ต้องการร่วมแก้ไขปัญหาพลังงานที่มีราคาสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงผลิตเพื่อผลิตไฟฟ้าตามสถานการณ์ต้นทุนในขณะนั้น โดยเลือกใช้เชื้อเพลิงที่มีราคาถูกที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ