ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
มูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมกับ สวทช.วิจัยเก็บรักษาทรัพยากรเชื้อพันธุกรรมพืช
21 มิ.ย. 2565

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ดร.ลดาวัลย์ กระแสร์ชล รองผู้อำานวยการสํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ ร.ศ.ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “ด้านการวิจัยและพัฒนา การเก็บรักษาทรัพยากรเชื้อพันธุกรรมพืชระยะยาว” เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน รวมถึงการวิจัยและพัฒนาการเก็บรักษาในแบบระยะยาว นำข้อมูลที่มีค่าของทรัพยากรเหล่านี้พัฒนาต่อยอดเป็นระบบสารสนเทศในการสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากข้อมูลทรัพยากรชีวภาพอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยยังสามารถรักษาสมดุลในการใช้ทรัพยากรตามแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG “เพิ่มคุณภาพชีวิต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ต่อยอดจุดแข็งของประเทศในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ดังนี้ Bioeconomy (ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ) สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากร Circular Economy (ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน) และ Green Economy (ระบบเศรษฐกิจสีเขียว) ด้วยการใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์นายกกิตติมศักดิ์และองค์ ประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา พระราชทานพระราชานุมัติให้มูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ดำเนิน “โครงการความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาการเก็บรักษา ทรัพยากรเชื้อพันธุกรรมพืชระยะยาว เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกัน อนุรักษ์ทรัพยากรเชื้อพันธุกรรมพืช รวมถึงการวิจัยและพัฒนาการเก็บรักษาแบบระยะยาว

 ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงาน ได้ร่วมลงนามในครั้งนี้ เพื่อนำเมล็ดพันธุ์ของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ มูลนิธิชัยพัฒนา ที่ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ดำเนินการปรับปรุงพัฒนาเป็นพันธุ์ใหม่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนพันธุ์แล้ว รวมถึงเมล็ดพ่อแม่พันธุ์พืชผักของ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ได้รวบรวมไว้เพื่อการรักษาพันธุกรรมพืช เข้าเก็บรักษาในธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (NBT) โดยมี แผนที่จะดำเนินงานวิจัยการเก็บรักษาแบบระยะยาวต่อไป โดยเมล็ดพันธุ์ที่จะทำการเก็บรักษาในครั้งนี้มีจำนวน 1,533 สายพันธุ์ แบ่งเป็น 9 ประเภท ประกอบด้วย พันธุ์พืช ใหม่ที่ได้การรับรองพันธุ์ จํานวน 20 สายพันธุ์ พืชตระกูลถั่ว จํานวน 163 สายพันธุ์ ตระกูลพริกและมะเขือ จํานวน 163 สายพันธุ์ ตระกูลแตง จำนวน 841 สายพันธุ์ ตระกูลกะหล่ำปลี จำนวน 41 สายพันธุ์ ตระกูลผักชี จำนวน 7 สายพันธุ์ ตระกูลกระเจี๊ยบเขียว จำนวน 211 สายพันธุ์ ตระกูลผักโขม จำนวน 31 สายพันธุ์ และดอกไม้ จำนวน 56 สายพันธุ์

ดร.ลดาวัลย์ กระแสร์ชล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. พร้อมส่งเสริมด้านการพัฒนากำลังคน และโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำไปสู่การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งภารกิจหนึ่งของ สวทช. คือการพัฒนาและบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน ทางด้านกลุ่มวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ของประเทศช่วยเสริมฐานความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจในประเทศไทย ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ หรือ National Biobank of Thailand (NBT) เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานของ สวทช. โดยมีบทบาทหลักในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ชั้นนำสนับสนุนกิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพอันมีค่าของประเทศ โดย NBT มีคลังจัดเก็บทรัพยากรชีวภาพแบบระยะยาวที่เป็นฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจ BCG และเตรียมพร้อมรับมือเมื่อเกิดภาวะวิกฤตของการสูญเสียทรัพยากรชีวภาพอย่างถาวรในธรรมชาติ

 นอกจากนี้ NBT ยังเป็นแหล่งอ้างอิงของข้อมูลทรัพยากรชีวภาพที่น่าเชื่อถือพร้อมกับการนำเอาข้อมูลระดับจีโนม และสารสนเทศอื่น ๆ ที่เกิดจากการวิจัยบนทรัพยากรชีวภาพเหล่านี้มาพัฒนาต่อยอดให้เกิดเป็นระบบสารสนเทศเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจและสร้างองค์ความรู้ใหม่ในวงการวิจัย กิจกรรมของ NBT สนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน องค์กรในประเทศ และนานาชาติ ผลักดันให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก โดยที่ยังสามารถเก็บรักษาหรืออนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพไว้ได้อย่างยั่งยืน

ด้าน ร.ศ.ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนา จัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์พืช ให้เกษตรกรได้มีพืช สายพันธุ์ที่ดี ทนทานต่อโรคและแมลง ได้ผลผลิตที่ดี ซึ่งศูนย์ฯ ได้รวบรวมและพัฒนาพันธุ์พืชพื้นบ้าน เก็บรักษาพันธุ์พืชผักพื้นบ้าน เพื่อให้เกษตรกรปลูกสำหรับบริโภคในครัวเรือน จำหน่าย หรือเก็บไว้ทำพันธุ์ต่อไป นอกจากนี้ ยังเก็บเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานแก่ราษฎรและโดยเฉพาะราษฎรที่ประสบภัยพิบัติ

การลงนามร่วมกันในครั้งนี้ เป็นการนำเมล็ดพันธุ์ของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ มูลนิธิชัยพัฒนา ที่ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ดำเนินการปรับปรุงพัฒนาเป็นพันธุ์ใหม่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนพันธุ์แล้ว รวมถึงเมล็ดพ่อแม่พันธุ์พืชผักของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ได้รวบรวมไว้เพื่อการรักษาพันธุกรรมพืช เข้าเก็บรักษาในธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อดำเนินงานวิจัยการเก็บรักษาแบบระยะยาวต่อไป

การนำเมล็ดพันธุ์พืชที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เข้าเก็บรักษาในธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (NBT) ครั้งนี้ จะเป็นอีกก้าวของนวัตกรรมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุมการเก็บรักษาและการเก็บข้อมูลเมล็ดพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพ สามารถคงความมีชีวิตของพันธุกรรมพืชไว้ได้ยาวนาน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการปกป้องทรัพยากรชีวภาพของประเทศเพื่อที่จะสามารถนำไปพัฒนาในด้านอื่นๆ อีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้เกิดความยั่งยืนสืบไป

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...