จังหวัดแพร่ร่วมกับมูลนิธิกาญจนบารมี จัดกิจกรรมโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ (Mammogram) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส เฉลิมพระเกียรติ 70 พรรษา
วันที่ 22 มิถุนายน 2565 เวลา 09.00 น. ที่ช่วงวัฒนธรรมเมืองเป้(กาดสามวัย) ตำบลในเมือง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ นายวิเชียร อนุสาสนนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่เป็นประธานเปิดกิจกรรม โครงการคัดกรองมะเร็งเต้านม โดยเครื่องเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ (Mammogramn) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส เฉลิมพระเกียรติ 70 พรรษา ซึ่งทางมูลนิธิกาญจนบารมี ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และจังหวัดแพร่จัดขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 70 พรรษา เพื่อกระตุ้นเตือนให้ความรู้เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง อาการของโรค และการรักษาตลอดจน การสอนการตรวจเต้านมด้วยตนเองให้กับประชาชนทั่วไป และมีการคัดกรองค้นหาผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม ได้รับความรู้เรื่องโรคมะเร็งเต้านม ได้รับการฝึกหัดการตรวจเต้านมด้วยตนเอง และเอกซเรย์เต้านมด้วยเครื่อง Mammogram
นายแพทย์ขจร วินัยพานิช นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแพร่กล่าวว่า จังหวัดแพร่ ได้เข้าร่วมโครงการนี้ ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นโครงการที่ให้ผู้รับบริการทราบและเฝ้าระวังอาการผิดปกติตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ทำให้เข้ารับการรักษา ลดอัตราป่วยและเสียชีวิตได้ในระดับหนึ่ง ข้อมูลการให้บริการในปี 2563 พบผู้มีความผิดปกติที่มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม จำนวน 22 ราย ซึ่งได้รับการส่งต่อเพื่อไปรับการรักษา ณ โรงพยาบาลแพร่ การรณรงค์คัดกรองมะเร็งเต้านม และจัดกิจกรรมโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ (Mammogram) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส เฉลิมพระเกียรติ 70 พรรษา ในจังหวัดแพร่ครั้งนี้ จัดขึ้นในช่วงวันที่ 20-24 มิถุนายน 2565 โดยวันที่ 20 มิถุนายน 2565 ให้บริการที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอสอง วันที่ 21 มิถุนายน 2565 ที่หอประชุมม่วงไข่พิทยาคม โรงเรียนหนองม่วงไข่ อำเภอหนองม่วงไข่ วันที่ 22 มิถุนายน 2565 ที่ข่วงวัฒนธรรมเมืองแป้ (กาดสามวัย) อำเภอเมืองแพร่ และวันที่ 23-24 มิถุนายน 2565 ให้บริการที่เทศบาลตำบลแม่หล่าย อำเภอเมืองแพร่
นายแพทย์ชัยพร พรหมศิลป์ ผู้แทนมูลนิธิกาญจนบารมี กล่าวว่า โรคมะเร็ง เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญ และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตในอันดับต้นๆของประเทศไทย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่โรงพยาบาลหรือศูนย์บำบัดโรคมะเร็ง มีจำนวนจำกัด ส่งผลให้ผู้ป่วยมะเร็งต้องรอรับการรักษาเป็นเวลานาน และจำนวนมากต้องเสียชีวิตก่อนจะได้รับการรักษา ในปี 2535 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมผู้ป่วยที่สถานพักฟื้นผู้ป่วยโรคมะเร็งธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี พระองค์ทรงทราบถึงปัญหา ความเดือดร้อนของราษฎรและผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องรอรับการรักษา จึงทรงพระราชดำริให้จัดสร้างศูนย์บำบัดรักษาโรคมะเร็งขึ้น เพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยในจังหวัดปทุมธานี และจังหวัดใกล้เคียง และพระองค์ทรงรับเป็นองค์ประธานในการระดมทุนเพื่อจัดสร้างศูนย์บำบัดรักษาโรคมะเร็ง ภายใต้ชื่อ “โครงการกาญจนบารมีเฉลิมฉลองพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ปีพ.ศ. 2539” โดยมีทุกภาคส่วน ร่วมทูลเกล้าถวายเงินในการสร้างศูนย์ดังกล่าว เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและเฉลิมพระเกียรติแด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นปีที่ 50 ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ จึงได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตใช้พระนามของพระองค์เป็นชื่อศูนย์บำบัดรักษาโรคมะเร็งว่า “ศูนย์มหาวชิราลงกรณ ธัญบุรี” ภายหลัง จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี” ต่อมา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้คณะกรรมการของโครงการกาญจนบารมี ดำเนินการจัดตั้ง “มูลนิธิกาญจนบารมี” ขึ้นโดยได้รับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2540 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ยากไร้ , สนับสนุนส่งเสริมการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็ง , เพื่อให้ทุนการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็ง , เพื่อเป็นกองทุนสำหรับการสนับสนุนการดำเนินงานกิจกรรมต่างๆ และการพัฒนา บุคลากรของโรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งส่วนภูมิภาคที่อยู่ในความรับผิดชอบ , เพื่อร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่นๆ และสาธารณประโยชน์
ทีมข่าว จ.แพร่