23 มิ.ย. 65 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้รับรายงานจากด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ และจากโรงพยาบาลทั้งภาครัฐ และเอกชน พบผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษลิงรวม 10 ราย ทั้งหมดเป็นชาวต่างชาติ และตรวจไม่พบเชื้อฝีดาษลิง โดยในจำนวนนี้ 6 ราย ได้รับการยืนยันการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ผลพบเชื้อไวรัสเริม (Herpes Simplex Virus type 1) และทั้ง 6 ราย มีประวัติเชื่อมโยงกับการซ้อมมวยในสนามฝึกซ้อมมวย ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาใช้บริการจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต และกระบี่ และอีก 4 ราย เป็นโรคติดเชื้อที่ผิวหนัง
ทั้งนี้ หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ ได้ประสานให้คำแนะนำสนามฝึกซ้อมมวยที่พบผู้ป่วยทุกแห่ง ให้ทำความสะอาดฆ่าเชื้ออุปกรณ์ฝึกซ้อมและสถานที่เป็นประจำ หากผู้ที่มาฝึกซ้อมมวยมีอาการป่วย โดยเฉพาะมีผื่น หรือตุ่มน้ำ หรือตุ่มหนอง ให้รีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทางและร่วมกิจกรรมเสี่ยง รวมถึงเน้นย้ำให้บุคลากรทาง การแพทย์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ช่วยกันเฝ้าระวังการระบาดของโรคไวรัสเริม (Herpes Simplex Virus) ในพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษลิงในประเทศไทย
ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา สธ. กล่าวว่า ในการสอบสวนโรคเบื้องต้น สำหรับผู้ป่วยสงสัยรายล่าสุด ทางศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข กรมควบคุมโรค กรณีฝีดาษลิงได้รับรายงานจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ในจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 65 พบผู้ป่วยสงสัย เพศชาย อายุ 21 ปี อาชีพนักมวย ชาวออสเตรเลีย มาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 65 มีประวัติได้ไปซ้อมมวยที่สนามฝึกซ้อมมวยแห่งหนึ่ง ในจังหวัดปทุมธานี เริ่มมีไข้ ไอ เจ็บคอ และเริ่มมีผื่นแดง ตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง บริเวณใบหน้า ลำคอ และแขน ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ยืนยันตรวจไม่พบเชื้อฝีดาษลิง โดยขณะนี้ กำลังเร่งตรวจหาสาเหตุของโรค เน้นย้ำว่า โรคฝีดาษลิงติดต่อได้ยากกว่าโรคโควิด-19 เพราะต้องมีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยระยะแพร่เชื้อ ซึ่งเป็นระยะที่ปรากฏอาการแล้ว เช่น มีไข้ ตุ่มหนองตามผิวหนัง
สำหรับสถานการณ์โรคฝีดาษลิงทั่วโลก ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค.-22 มิ.ย. 65 พบผู้ป่วยยืนยันแล้ว 3,157 ราย จากทั้งหมด 45 ประเทศ สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษลิงรายแรกในประเทศสิงคโปร์ เป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ชาวอังกฤษ อายุ 42 ปี มีประวัติเดินทางมาสิงคโปร์ระหว่างวันที่ 15-17 มิ.ย. 65 และกลับมาอีกครั้งวันที่ 19 มิ.ย. 65 เริ่มมีอาการปวดศีรษะ วันที่ 14 มิ.ย. และมีไข้วันที่ 16 มิ.ย. อาการหายไปแล้วมีผื่นขึ้นวันที่ 19 มิ.ย. จึงเข้ารับการตรวจทาง tele-consultation ในคืนวันนั้น ถูกส่งตัวไปสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติ (NICD) และตรวจพบเชื้อวันที่ 20 มิ.ย.
ทั้งนี้ เมื่อทำการค้นหาผู้สัมผัส (contact tracing) พบผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง 13 ราย อยู่ระหว่างการกักตัว 21 วัน และผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงต่ำอีก 2 ราย อยู่ระหว่างติดตามอาการป่วยทุกวันเป็นเวลา 21 วัน ซึ่งนับเป็นผู้ป่วยติดเชื้อมาจากพื้นที่อื่น (imported case) ที่ทางหน่วยงานด้านสาธารณสุขสิงคโปร์ ดำเนินการควบคุมโรค และประเมินเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติไปในสถานที่เดียวกับผู้ป่วยยืนยันด้วย