สำหรับประเด็นที่ 1 “ค่าการกลั่น ไม่ใช่ กำไรสุทธิ” ของผู้ประกอบกิจการโรงกลั่น ทั้งนี้ค่าการกลั่น คำนวณจากค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบในสัดส่วนที่แตกต่างกัน ได้แก่ ก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) น้ำมันเบนซิน น้ำมันอากาศยาน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา เป็นต้น หักด้วยต้นทุนราคาน้ำมันดิบ โดยผลิตภัณฑ์ส่วนหนึ่งจะถูกนำไปใช้เป็นแหล่งพลังงานในกระบวนการกลั่น ทำให้ผลรวมปริมาณผลิตภัณฑ์ที่กลั่นได้อยู่ในสัดส่วนประมาณร้อยละ 97 ของปริมาณน้ำมันดิบเท่านั้น
แม้ว่าค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์จะคำนวณโดยหลักการข้างต้นแต่จะอ้างอิงราคาน้ำมันดิบดูไบเป็นหลัก ซึ่งข้อเท็จจริงโรงกลั่นต่างๆ จะมีการนำเข้าน้ำมันดิบจากหลายแหล่ง เช่น น้ำมันดิบเมอร์บาน จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือน้ำมันดิบอาระเบียน ไลท์ จากซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น ซึ่งราคาจะสูงกว่าน้ำมันดิบดูไบ โดยผู้ขายจะบวกค่าพรีเมียมน้ำมันดิบ (Crude Premium) หรือส่วนต่างราคาน้ำมันดิบที่เราซื้อจริงกับราคาน้ำมันดิบดูไบเข้าไปในสูตรราคาด้วย ซึ่งในระยะนี้ เนื่องจากอุปทานน้ำมันดิบอยู่ในภาวะตึงตัวจึงทำให้ค่าพรีเมียมน้ำมันดิบ ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับปกติค่อนข้างมาก
ดังนั้น ค่าการกลั่นจึงไม่ใช่กำไรสุทธิของผู้ประกอบการโรงกลั่น เนื่องจากยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายดำเนินการอื่นๆ อีก อาทิ ค่าพรีเมียมน้ำมันดิบ ค่าพลังงานอื่นๆ ค่าสาธารณูปโภค ค่าบำรุงรักษาโรงกลั่น ค่าใช้จ่ายพนักงาน ค่าดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา เป็นต้น
ขณะเดียวกันยิ่งไปกว่านั้น ด้วยลักษณะและสภาพธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมที่มีความผันผวนสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบธุรกิจโรงกลั่นจึงมีการเข้าทำสัญญาขายผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปล่วงหน้าเพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยง เมื่อเห็นว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปล่วงหน้ามีความเหมาะสม ดังนั้น เมื่อราคาปรับสูงขึ้นเกินกว่าราคาที่ทำสัญญาไว้ล่วงหน้า นอกจากผู้ประกอบการจะไม่ได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ปรับเพิ่มขึ้นมากนักแล้ว ยังต้องบันทึกการขาดทุนจากการเข้าทำสัญญาดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้ การสรุปว่า เมื่อส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มสูงขึ้นมากเทียบกับวัตถุดิบแล้ว จะทำให้ผู้ประกอบการโรงกลั่นมีกำไรเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนนั้น จึงเป็นสมมติฐานที่ไม่ถูกต้องทั้งหมด
ประเด็นที่ 2 โรงกลั่นไม่ได้เป็นผู้กำหนดค่าการกลั่น และไม่สามารถกำหนดค่าการกลั่นได้ เนื่องจาก “ค่าการกลั่น” ขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของตลาดน้ำมันดิบ และตลาดน้ำมันสำเร็จรูปเป็นหลัก ซึ่งสะท้อนออกมาเป็นระดับราคาน้ำมันแต่ละชนิดในแต่ละช่วงเวลา เห็นได้จากในอดีตที่โรงกลั่นต้องแบกรับภาระขาดทุนในบางช่วงเวลาหากไม่นับรวมกำไรจากธุรกิจอื่นๆ ในกลุ่ม เนื่องจากค่าการกลั่นอยู่ในระดับที่ต่ำมาก เช่น ในช่วงปี 2563 - 2564 ที่เกิดวิกฤติการณ์โควิด-19 และมีความต้องการใช้น้ำมันน้อยลงมาก เป็นต้น
ประเด็นที่ 3 การพิจารณาค่าการกลั่นควรใช้ค่าเฉลี่ยระยะยาว เนื่องจากธุรกิจการกลั่นมีลักษณะเป็นวัฏจักรขึ้น - ลง ซึ่งโดยปกติค่าการกลั่นเฉลี่ยรายเดือน หรือ รายไตรมาสก็ตาม จะมีความผันผวนขึ้นลงได้มาก ดังนั้นการนำค่าการกลั่นเฉลี่ยระยะสั้นมาพิจารณาว่าโรงกลั่นมีกำไรมากเกินควร จึงไม่ถูกต้อง หากนำค่าการกลั่นเฉลี่ยตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 จนถึงเดือนธันวาคม 2564 ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์โควิด-19 และโรงกลั่นประสบภาวะขาดทุนซึ่งอยู่ที่ระดับ 0.30 บาทต่อลิตรมาเฉลี่ยรวมกับช่วงต้นปี 2565 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่วิกฤติการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย แต่กลับมีเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ค่าการกลั่นอยู่ที่ 2.80 บาทต่อลิตร จะพบว่าค่าการกลั่นเฉลี่ยรวมตลอดช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ที่ 0.70 บาทต่อลิตร ซึ่งยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก่อนวิกฤติการณ์โควิด-19 ทั้งที่โรงกลั่นมีภาระการลงทุนในโครงการต่างๆ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงกลั่นและเพิ่มคุณภาพน้ำมันให้เป็นมาตรฐานยูโร 5 ตามกฎหมาย
ประเด็นที่ 4 ตลาดการค้าน้ำมันเป็นกลไกการค้าเสรี ซึ่งผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปถือเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทหนึ่ง เช่นเดียวกับ ทองคำ น้ำตาล ข้าวโพด ฯลฯ จึงต้องมีการอ้างอิงตลาดที่มีความน่าเชื่อถือ มีผู้ซื้อ/ผู้ขายจำนวนมาก และปริมาณการซื้อขายในระดับสูง ซึ่งยากต่อการแทรกแซงราคาและเป็นราคาที่สะท้อนอุปสงค์และอุปทานน้ำมันที่แท้จริง ในภูมิภาคนี้ ได้แก่ “ตลาดสิงคโปร์” เนื่องจากโรงกลั่นของสิงคโปร์ เป็นการกลั่นเพื่อส่งออก ทำให้ราคาในตลาดสิงคโปร์จะสะท้อนราคาส่งออกที่แท้จริง
ทั้งนี้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ เปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับตลาดอื่นๆ ทั่วโลก ทั้งในตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกา ดังนั้น หากมีการกำหนดราคาในประเทศใดประเทศหนึ่งแตกต่างจากตลาดอื่นอย่างมาก ซึ่งเป็นการบิดเบือนกลไกของตลาดเสรี ก็จะทำให้เกิดการไหลเข้าหรือออกของผลิตภัณฑ์น้ำมันจากตลาดอื่นตามมา
นายวิรัตน์ กล่าวว่า ไทยออยล์ยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ด้วยวิธีการดำเนินการที่เหมาะสมภายใต้หลักของกฎหมายและการค้าเสรี เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจโรงกลั่นทุกรายต่างเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และมีหน้าที่ต้องดูแลผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ซึ่งรวมถึงผู้ถือหุ้นด้วย