กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เร่งสร้างบุคลากรคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้และมีทักษะ เพื่อเสริมการปฏิบัติการตอบโต้เหตุฉุกเฉินจากสารเคมี และปกป้องประชาชนจากภาวะมลพิษต่างๆ
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เห็นความจำเป็นและความสำคัญของปัญหามลพิษจากอุบัติภัยสารเคมี การปกป้องประชาชนจากภาวะมลพิษต่างๆ การสร้างบุคลากรคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้และมีทักษะเพื่อเสริม-สนับสนุนการปฏิบัติการตอบโต้เหตุฉุกเฉินจากสารเคมีให้มีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน จึงได้จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การตอบโต้เหตุฉุกเฉินจากสารเคมีระดับเทคนิค” ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อให้ความรู้และทักษะการวางแผนเตรียมการ การฝึกปฏิบัติในการตอบโต้เหตุฉุกเฉินจากสารเคมี การใช้เครื่องมือเพื่อตรวจสอบบ่งชี้กากของเสียและไอระเหยสารเคมีในภาคสนาม แล้วนำความรู้ไปต่อยอดการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบและแก้ปัญหา รวมถึง การสร้างเครือข่ายหน่วยงานท้องถิ่นและภาคประชาชนในพื้นที่ต่อไป หากเกิดเหตุอุบัติภัยสารเคมี สามารถโทรแจ้งได้ที่ สายด่วน 1650 ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเกิดเหตุอุบัติภัยสารเคมีรั่วไหล เหตุระเบิด และเพลิงไหม้โรงงานที่มีการสะสมสารเคมีและวัตถุอันตรายเป็นระยะๆตั้งแต่ปี 2560 – 2564 ประมาณ 180 ครั้ง พบเป็นอุบัติภัยจากโรงงานอุตสาหกรรม 93 ครั้ง // การขนส่งสารเคมี 41 ครั้ง // ไฟไหม้บ่อขยะ 25 ครั้ง // โกดังเก็บสารเคมี 15 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นเหตุเพลิงไหม้โรงงานอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการผลิตและแปรรูปพลาสติก โรงงานผลิตสารเคมี โรงงานรีไซเคิล ร้านรับซื้อของเก่าและวัสดุรีไซเคิลไม่ต่ำกว่า 100 ครั้ง ซึ่งในหลายกรณีเมื่อเกิดเหตุแล้วก่อให้เกิดความเสียหายต่อทั้งชีวิต ทรัพย์สิน ผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง
สำหรับเหตุการณ์เพลิงไหม้สำคัญช่วงที่ผ่านมาที่กระทบสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่ เช่น เหตุระเบิดเพลิงไหม้โรงงาน บริษัท หมิงตี้ เคมิคอล จำกัด จังหวัดสมุทรปราการ แรงระเบิดทำให้บ้านเรือนในพื้นที่โดยรอบเสียหายเป็นมูลค่ามากกว่า 400 ล้านบาท มลพิษจากเขม่าควันและไอระเหยสารเคมีส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบในรัศมีไม่น้อยกว่า 1 กิโลเมตร // เหตุเพลิงไหม้โรงงานรับกำจัดและรีไซเคิลกากอุตสาหกรรม บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด จังหวัดราชบุรี ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศส่งผลกระทบต่อชุมชนในพื้นที่ด้านท้ายลม