ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
สปสช.แจงยิบไม่ลอยแพผู้ป่วยโควิด
01 ก.ค. 2565

ที่ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำผู้บริหาร สปสช.แถลงชี้แจงแนวปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโรคโควิด-19 หลังวันที่ 1 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป เพื่อรองรับนโยบายรัฐบาล หลังพ้นภาวะการระบาดใหญ่และเตรียมเข้าสู่โรคประจำถิ่น พร้อมยืนยันไม่ได้ลอยแพผู้ป่วยโควิด-19 และรักษาฟรีแน่นอน

นพ.จเด็จกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้รายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่ามีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยหนักอย่างลดลงต่อเนื่อง ไม่พบการระบาดเป็นวงกว้างต่อเนื่อง จำนวนเตียง ยา และเวชภัณฑ์ มีเพียงพอต่อการให้บริการได้ตามมาตรฐาน รัฐบาลจึงมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อรองรับการเดินหน้าไปสู่โรคประจำถิ่นอย่างปลอดภัย ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 มิถุนายน 2565 ได้มอบหมายให้ สธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในการดำเนินการรองรับการเดินหน้าไปสู่โรคประจำถิ่น โดยประชาชนยังคงได้รับการดูแลรักษาพยาบาลตามสิทธิสุขภาพที่ตนเองมีอยู่ ทั้งนี้ แม้ว่าโรคโควิด-19 จะเข้าสู่โรคประจำถิ่น แต่ถือว่ายังเป็นโรคหนึ่งโรค สธ.เองมีแนวคิด “Health for Wealth” ที่มุ่งคืนระบบบริการการแพทย์แก่ประชาชนทุกคนทุกโรค และประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้

นพ.จเด็จกล่าวต่อไปว่า ในส่วนของ สปสช.นั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมตามนโยบายรัฐบาลเพื่อรองรับการเดินหน้าสู่โรคประจำถิ่นเช่นกัน โดยจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้

“อย่างไรก็ตาม มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 สปสช.จะลอยแพผู้ป่วยโควิด-19 เรื่องนี้ขอชี้แจงและยืนยันว่า ไม่มีการลอยแพผู้ป่วยโควิด-19 แต่อย่างใด ผู้ป่วยยังคงได้รับการรักษาฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายเหมือนเดิม” นพ.จเด็จกล่าว

เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า หลังจากนี้หากประชาชนมีอาการเข้าข่ายว่าจะติดโควิด-19 สามารถขอรับชุดตรวจ ATK ที่ร้านขายยาใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการผ่านแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” หรือใช้บัตรประชาชนไปรับเพื่อตรวจยืนยันได้ทันที หากขึ้น 2 ขีด คือผลเป็นบวกว่าติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มที่มีอาการไม่มาก หรือกลุ่มสีเขียวเข้ารักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกที่หน่วยบริการประจำตามสิทธิ หรือหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งจะได้รับการดูแลรักษาตามแนวทางเจอแจกจบของ สธ. หรือโทรศัพท์ประสานร้านขายยาตามรายชื่อที่อยู่ในเว็บไซต์ สปสช.เพื่อรับยาตามโครงการเจอแจกจบที่ร้านขายยาได้เช่นกัน

“กรณีเป็นกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่ม 608 หรือมีอาการรุนแรง จะถูกพิจารณาให้พบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา หากแพทย์ให้การรักษาแบบใดตามดุลพินิจของแพทย์ สิทธิรักษาพยาบาลของแต่ละท่านก็จะดูแลครอบคลุมหมด ในส่วนของผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 30 บาท สปสช.ก็ดูแลค่าใช้จ่ายครอบคลุมทั้งหมดเช่นกัน หากแพทย์มีดุลพินิจให้รักษาแบบ Home Isolation หรือเป็นผู้ป่วยในต้องแอดมิตนอนโรงพยาบาล (รพ.) ก็อยู่ในความครอบคลุมของสิทธิประโยชน์เช่นกัน” นพ.จเด็จกล่าว

นพ.จเด็จกล่าวว่า หากมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินตามเกณฑ์สีเหลือง-แดง ก็ใช้สิทธิยูเซ็ป พลัส (UCEP Plus) เข้ารักษา รพ.ที่อยู่ใกล้ที่สุดได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ในส่วนของสายด่วน สปสช. 1330 หลังจากวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่จำเป็นต้องโทรแจ้งแล้ว แต่หากมีข้อสงสัยว่าจะต้องทำอย่างไรให้โทรสอบถามขั้นตอนได้ หรือหากมีอาการแย่ลงจะต้องทำอย่างไรต่อ หรือต้องการประสานหาเตียงเข้ารักษาใน รพ.ก็โทรได้เช่นกัน

“เมื่อโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นแล้ว ไม่ใช่ว่ารัฐจะไม่ดูแล รัฐก็ยังดูแลอยู่ภายใต้งบประมาณจากกองทุนต่างๆ เน้นย้ำว่า หลักประกันสุขภาพทุกระบบเตรียมพร้อมที่จะรับดูแลประชาชนในแต่ละกลุ่มของหลักประกันสุขภาพนั้นๆ ยืนยันว่าไม่ได้ลอยแพผู้ป่วยแต่อย่างใด ผู้ป่วยโควิด-19 ยังคงได้รับการรักษาไม่เสียค่าใช้จ่ายเหมือนเดิม” นพ.จเด็จกล่าว

ด้าน พญ.กฤติยา ศรีประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สายงานบริหารกองทุน สปสช. กล่าวว่า ในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จะมีการประชุมหารือ จะเพิ่มค่าใช้จ่ายหมวดโควิด-19 ที่เดิมที่ได้รับงบประมาณที่ได้จาก พ.ร.ก.กู้เงิน จะนำมาอยู่ในงบบัตรทอง ซึ่งตามหลักการจะเปลี่ยนจากการใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงิน มาเป็นงบระบบกองทุนหลักประกันสุขภาพในแต่ละระบบแทน

“สำหรับสิทธิการรักษาพยาบาลเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญกำหนด ประชาชนต้องได้รับการดูแลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ฉะนั้น ไม่ว่าโควิด-19 จะเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่ ประชาชนเคยได้รับสิทธิอย่างไร ก็จะยังได้รับสิทธิเหมือนเดิม หากประชาชนที่มีภูมิลำเนาอยู่ จ.เชียงใหม่ แต่เข้ามาทำงานอยู่ที่กรุงเทพมหานคร และใช้สิทธิบัตรทอง ก็จะมีหน่วยบริการที่อยู่ในระบบให้การดูแล” พญ.กฤติยากล่าว และว่า อย่างไรก็ดี โรคโควิด-19 แม้จะไม่ใช่โรคระบาดร้ายแรง แต่ก็ยังเป็นโรคที่สามารถฉุกเฉินได้ เมื่อประชาชนป่วยเป็นโรคโควิด-19 เกิดหายใจไม่สะดวก มีอาการเข้าข่ายยูเซ็ป (UCEP) เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตถึงแก่ชีวิต หรืออยู่ในกลุ่มอาการสีแดงก็สามารถเข้ารักษาได้ ซึ่งส่วนนี้ก็เป็นส่วนที่ระบบสำรองเอาไว้ แต่ถ้าผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มอาการสีเขียว-สีเหลืองก็เข้ารักษาตามระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีอยู่

พญ.กฤติยากล่าวว่า หากผู้ป่วยยังมีอาการที่หลงเหลือจากการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งอาจจะเป็นอาการทางระบบทางเดินหายใจ ไอ บางรายนอนไม่หลับ รับประทานอาหารไม่ค่อยได้ เรื่องของการรักษานั้น กรมการแพทย์ สธ.ก็ได้มีการออกแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะลองโควิด ซึ่งเมื่อเป็นการรักษาระบบกองทุนก็ยังจ่ายเหมือนเดิมเป็นการรักษาต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...