ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
เทศบาลตำบลวังกะ ชวนผู้สูงวัยออกกำลังกายด้วยการรำตง เพื่อสุขภาพและอนุรักษ์ศิลปะการร่ายรำของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง
02 ก.ค. 2565

เทศบาลตำบลวังกะ ชวนผู้สูงวัยออกกำลังกายด้วยการรำตง เพื่อสุขภาพและอนุรักษ์ศิลปะการร่ายรำของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง อนาคตจะยกระดับให้เป็นกิจกรรมการออกกำลังกายสำหรับทุกคนที่สนใจ

วันนี้ 30 มิ.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสเทศบาลตำบลวังกะ ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เทศบาลตำบลวังกะได้จัดโครงการศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยการนำผู้สูงอายุ(หญิง)ที่สนใจการออกกำลังกายด้วยการรำตงซึ่งเป็นศิลปะการแสดงของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงในพื้นที่อำเภอสังขละบุรี เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุ และได้ฟื้นฟูความทรงจำการรำตง ของคุณป้า คุณยาย ผู้สูงวัยที่ห่างหายไปจากชีวิตประจำ เนื่องจากอายุที่เพิ่มขึ้น โดยในแต่ละวันจะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 15-20 คน เริ่มตั้งแต่เวลา 17.00 น – 18.00 น ส่งผลให้ช่วงเวลาดังกล่าวบรรยากาศภายในศูนย์เต็มไปด้วยเสียงพูดคุย เสียงหัวเราะ ท่ามกลางเสียงเพลงกะเหรี่ยงจังหวะเนิบๆที่คุณป้า คุณยายคุ้นเคย

โดยเทศบาลตำบลวังกะ ได้เชิญนายเอกรัตน์ สังขจรัส ครูโรงเรียนอุดมสิทธิศึกษา ซึ่งมีความชำนาญในเรื่องศิลปะวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยง มาเป็นครูผู้สอน นายเอกรัตน์ สังขจรัส เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าดีใจที่ได้มาช่วยเคาะสนิมการรำตง ของคุณยาย ซึ่งทุกคนเคยรำเมื่อตอนยังสาวๆ ส่งผลให้ไม่ต้องสอนอะไรมาก โดยจะเลือกท่ารำที่มีจังหวะกลางๆ ไม่ช้าหรือเร็วเกินไป เลี่ยงท่ารำที่มีการกระโดดโลดเต้น ส่วนเพลงประกอบการรำตง คุณยายจะช่วยกันเลือกเอง ซึ่งการสอนเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2  โดยจะสอนสัปดาห์ละ 2 วัน (วันพุธและพฤหัสบดี) ดีใจที่ทำให้คุณยายทุกคนมีความสุข มีรอยยิ้ม มีเสียงหัวเราะ

ด้านนางวชิรา มีเย็น รองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลวังกะ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าโครงการนี้เกิดจากความต้องการของเจ้าหน้าที่เทศบาลฯ ที่ดูและเรื่องผู้สูงอายุ ต้องการหากิจกรรมให้ผู้สูงอายุได้ทำเพื่อให้ได้มีการพบปะ พูดคุยกัน 

หลังจากช่วงวิกฤติโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563-ต้นปี 2565 ส่งผลให้ได้พบปะ พูดคุยและออกจากบ้านมาทำกิจกรรมร่วมกัน จึงได้ทำแบบสอบถามจากผู้สูงอายุ จนรู้ว่าท่านต้องการรำตง เนื่องจากจะได้มีโอกาสฟื้นฟูการรำตงของแต่ละคนด้วย
 
ที่สำคัญการรำตงจะทำให้คุณยายมีโอกาสได้สวมชุดกะเหรี่ยงและแต่งหน้า ทำผมให้ดูสวย เหมือนตอนสาวๆ ซึ่งความสาวยอยู่ในจิตใจของผู้หญิงทุกช่วงวัย ซึ่งหลังจากมีกิจกรรมดังกล่าวจะสังเกตได้ว่าทุกคนที่มาร่วมรำตง จะมีความสุข มีรอยยิ้ม มีอารมณ์ที่ดี ไม่เฉาเหมือนก่อนหน้านี้ ที่สำคัญดนตรีช่วยให้ทุกคนผ่อนคลาย ซึ่งกิจกรรมนี้นับว่าเป็นประโยชน์ ส่งผลดีต่อต่อสุขภาพใจและกายของผู้สูงอายุ
 
นางปัทมา สังขเนรมิต (ยายหลอ) วัย 67 ปี เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าดีใจที่ได้กลับมาทำกิจกรรมร่วมกันในกลุ่มผู้สูงอายุของเทศบาลฯอีกครั้ง เนื่องจากในช่วงเวลาที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้ทุกคนต้องอยู่บ้าน ทำให้เหงาไม่มีอะไรทำ ได้แต่เปิดเพลงกะเหรี่ยงที่ตนเองชื่นชอบฟังคนเดียวที่บ้าน โดยเฉพาะเมื่อมีการนำรำตงมาสอนเพื่อเป็นการออกกำลังกาย ยิ่งชอบใจมาก เนื่องจากตนเองและเพื่อนๆในกลุ่มหลายคนชอบการรำตง โดยก่อนที่จะเกิดโควิด-19 ได้มีโอกาสรำตงตามงานวัด งานบุญต่างๆ ทำให้มีความสุข รู้สึกดีใจที่เทศบาลเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุและจัดกิจกรรมดีๆแบบนี้ให้

รำตงเป็นศิลปะการแสดงของชาวกะเหรี่ยงที่ยังคงมีการอนุรักษ์ และสืบสานเพื่อให้อยู่คู่กับคนกะเหรี่ยงในพื้นที่อำเภอสังขละบุรี ในอดีตทุกชุมชนจะมีคณะรำตงของชุมชน เพื่อไว้แสดงในงานบุญต่างๆรวมทั้งนำไปแสดงในงานวัดงานบุญในชุมชนอื่นๆ โดยผู้รำจะมีทั้งหญิงและชาย มีเครื่องดนตรีทั้งกลอง เกราะ ระนาด ปี่ ฉิ่ง ฉาบ และ ระนาดวง ซึ่งรำตงบ้านไหนรำสวยและพร้อมเพรียง ก็จะสร้างชื่อเสียงให้หมู่บ้านและจะมีการเชื้อเชิญไปร่วมการแสดงในงานต่างๆที่สำคัญของอำเภอสังขละบุรี ปัจจุบันรำตงยังพบเห็นได้ทั่วไปในพื้นที่ ต.ไล่โว่ ซึ่งเป็นชุมชนชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงที่ยังคงอนุรักษ์ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ได้อย่างเหนียวแน่น และเป็นศูนย์รวมของพ่อครู แม่ครู คณะรำตงของอำเภอสังขละบุรี


ทีมข่าวกาญจนบุรี

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...