วันนี้ 4 กรกฎาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนที มนตริวัต รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท เป็นประธานเปิดการประชุมศึกษาบทเรียนการพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในพื้นที่จังหวัดชัยนาท และลงนามความร่วมมือ(MOU)การใช้ระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนในระดับพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาความยากจนอำเภอสรรคบุรี ระหว่าง หน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดยสถาบันวิทยาลัยชุมชน กับหน่วยงานอำเภอสรรคบุรี 23 หน่วยงาน ณ ห้องชัยพฤกษ์ 111 รีสอร์ท แอนด์สปา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท พร้อมลงพื้นที่ศึกษาภาคสนามและเยี่ยมให้กำลังใจวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาอาชีพตำบลโพงาม การประกอบการปุ๋ยหมักจากมูลแพะและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร กิจการแปลงผักแปลงรวมแก้จนคนวัดตึก ต.โพงาม และทอดผ้าป่า “กองทุนข้าวสารเพื่อการยังชีพตำบลโพนางดำออก” ณ วัดสมอ อ.สรรพยา และมอบข้าวสารแก่ครัวเรือนเป้าหมาย ต.โพนางดำออก
โดย นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ ประธานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เปิดเผยหลังร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความร่วมมือ(MOU)การใช้ระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนในระดับพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาความยากจนอำเภอสรรคบุรี ระหว่าง หน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดยสถาบันวิทยาลัยชุมชน กับหน่วยงานอำเภอสรรคบุรี 23 หน่วยงาน ณ ห้องชัยพฤกษ์ 111 รีสอร์ท แอนด์สปา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ว่า โครงการนี้เป็นโครงการวิจัยแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ เน้นหาข้อมูลคนยากจนให้ได้ครบถ้วน ข้อมูลที่มาจากชุมชนในพื้นที่ เพราะจะรู้ว่าคนไหนจนจริง มีตกหล่นหรือไม่ มีรายละเอียดที่ลงลึก สาเหตุของความจนว่าเกิดจากสภาพแวดล้อม หรือเกิดจากพฤติกรรมของตัวเอง เพื่อจะได้กำหนดแนวทางแก้ปัญหาด้วยอะไร แล้วส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โครงการนี้แตกต่างจากโครงการอื่นๆคือ จากที่เคยมีการจ้างคนนอกเก็บข้อมูล แต่โครงการนี้เราใช้คนในชุมชนเก็บข้อมูลการบันทึกข้อตกลง MOU ครั้งนี้เป็นการส่งต่อข้อมูลให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แม้งานวิจัยจะจบสิ้นลง และการดำเนินโครงการของหน่วยงานไม่จบ มั่นใจว่าหากมีความร่วมมือแบบนี้ นโยบายรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนสามารถทำได้จริง
จากข้อมูลของสภาพัฒน์ฯพบว่าจังหวัดชัยนาทมีข้อมูลเด่นเรื่องของการมีส่วนร่วม จากการรับฟังข้อมูลในวันนี้เป็นจริงเพราะทุกภาคส่วน ทั้งราชการ ท้องถิ่น เอกชน ภาคการศึกษา วัด หอการค้า เชื่อว่าจังหวัดชัยนาทจะสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้ และอาจเป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่นๆได้เห็นว่าการคิดการแก้ปัญหามีความซับซ้อน จะให้ราชการฝ่ายเดียวแก้ไขเชื่อว่าไม่สำเร็จ และยุทธศาสตร์ชาติจะเดินหน้าได้อย่างแท้จริงต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ใช้ข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล ส่งต่อปัญหาที่เกิดขึ้นและติดตามพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ด้าน ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)เปิดเผยว่า จากระบบข้อมูลสถาบันวิทยาลัยชุมชน ร่วมกับภาคประชาสังคม องค์กรชุมชน และภาครัฐในพื้นที่ ผ่าน ศจพ.จ. โดยค้นหาและสอบทานโดยใช้กระบวนการชุมชน พบว่าจังหวัดชัยนาทมีครัวเรือนคนจนเป้าหมาย 4,638 ครัวเรือน โดยมีนักจัดการข้อมูลระดับชุมชน เมื่อค้นหาพบนำมาวิเคราะห์ฐานทุนครัวเรือน บวกกับเครือข่ายทุนเดิม เรื่องเครือข่ายสังคมจังหวัดชัยนาทมีความเข้มแข็ง ทุกภาคส่วนนำไปสู่ระบบส่งต่อความช่วยเหลือในชุมชน ทั้ง วัด โรงเรียน รพ.สต. เข้าไปช่วยเหลือระดับครัวเรือน ยกระดับคุณภาพชีวิตให้มีบ้านอยู่มีข้าวกินก่อน จากนั้นนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตด้านอาชีพ โดยพัฒนาอาชีพต่างๆให้ตรงกับบริบทของแต่ละครัวเรือน คนจนที่ไม่มีพื้นที่ทำกิน เข้าสู่การบริหารจัดการแปลงรวม ไม่ว่าจะเป็นวัด หรือท้องถิ่นที่มีพื้นที่สาธารณะ เป็นต้น คาดหวังว่าจะเกิดระบบส่งต่อความช่วยเหลือ และฐานข้อมูลความจนที่แท้จริงจะนำไปสู่ฐานข้อมูลระดับประเทศ และจะทำให้ฐานข้อมูลระดับประเทศดีขึ้นได้รับการยอมรับระดับครัวเรือนระดับชุมชน
ทีมข่าว จ.ชัยนาท