ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
พาณิชย์ เผย CPI มิ.ย.พุ่ง 7.66% คงคาดการณ์ทั้งปี 4-5%
05 ก.ค. 2565

นายรณรงค์ พูนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนมิ.ย. 65 อยู่ที่ระดับ 107.85 เพิ่มขึ้น 7.66% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และสูงกว่าที่ตลาดคาด 7.5% และเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.90% จากเดือน พ.ค.65 ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยครึ่งปีแรก เพิ่มขึ้น 5.61%
ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือนมิ.ย. 65 อยู่ที่ระดับ 102.99 เพิ่มขึ้น 2.51% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.24% จากเดือน พ.ค.65 ส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยครึ่งปีแรก เพิ่มขึ้น 1.85%
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนในหลายปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ สนค.จะยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 65 ไว้ในกรอบเดิมก่อนที่ 4-5% โดยค่ากลางอยู่ที่ 4.5%
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนมิ.ย. 65 ถือว่าไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นมากจากเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการของภาครัฐที่พยายามช่วยเหลือประชาชน และผู้ประกอบการภาคเอกชนได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการตรึงราคาขายปลีกเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อค่าครองชีพของประชาชน โดยคำนึงถึงการได้รับประโยชน์ร่วมกันอย่างสมดุล ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค เป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม หากมองในมิติการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในเดือนมิ.ย. นี้ พบว่า ปัจจัยหลักยังคงเป็นราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม ซึ่งมีสัดส่วนถึง 61.83% ซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัว 7.66%
"เงินเฟ้อในเดือนมิ.ย.ที่ 7.66% จริงๆ แล้วถือว่าไม่ได้สูงมาก เป็นการสูงขึ้นในทางเทคนิค เพราะฐานคำนวณของเดือนมิ.ย.ปีก่อนอยู่ที่ 99 ยังไม่ถึง 100 ถ้าปีก่อนสูงกว่า 100 ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิ.ย.ปีนี้ ก็คงแค่ 7% ต้นๆ" นายรณรงค์ ระบุ
สำหรับการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าในเดือนมิ.ย.65 นี้ พบว่า มีสินค้าและบริการ 213 รายการ ที่ราคาสูงขึ้น ส่วนสินค้าและบริการที่ราคาลดลง มี 80 รายการ ขณะที่สินค้าและบริการที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง มี 137 รายการ
นายรณรงค์ กล่าวถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 3/65 คาดว่ายังมีแนวโน้มขยายตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับไตรมาส 2/65 ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 6.47% ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ดี คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 4/65 จะค่อยเริ่มปรับตัวลดลง โดยเหตุผลส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยทางเทคนิคที่อัตราเงินเฟ้อไตรมาส 4/64 อยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ดี ทิศทางเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังยังมีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ ซึ่งยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะยุติลงเมื่อไร หรือความขัดแย้งจะขยายวงกว้างไปยังพื้นที่อื่นเพิ่มเติมหรือไม่ ตลอดจนสถานการณ์ค่าเงินบาท และนโยบายการเงินว่าจะสามารถชะลอการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อได้หรือไม่
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อได้ทั้ง 2 มิติ กล่าวคือ มิติแรก เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการด้านสาธารณสุข มีการเปิดประเทศ จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมา ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลต่อเงินเฟ้อด้วย และมิติที่สอง จากที่รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน เช่น การดูแลราคาน้ำมัน ค่าน้ำ ค่าไฟ ซึ่งหากมาตรการเหล่านี้หมดไป ก็จะมีผลต่อเงินเฟ้อด้วยเช่นกัน
"การหยุดยั้งเงินเฟ้อด้วยนโยบายการเงิน อาจจะหยุดได้ในเชิงทฤษฎี ซึ่งการปรับเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ ส่วนใหญ่จะมาจากปัจจัยภายนอก ดังนั้นก็ต้องรอดูว่า การขึ้นดอกเบี้ยจะมีผลต่อเงินเฟ้อมากน้อยเพียงใด" นายรณรงค์ กล่าว
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยในปัจจุบัน ถือว่ายังอยู่ในกลุ่มประเทศที่เงินเฟ้อต่ำ ซึ่งล่าสุด ในเดือนพ.ค. อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในอันดับที่ 87 เมื่อเทียบกับทั้งหมดที่ 123 ประเทศ ส่วนประเทศที่อัตราเงินเฟ้อสูงสุดเป็นอันดับแรกนั้น สูงถึง 211% ดังนั้นอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยจึงถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับนานาประเทศ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...