นายดนัย เอกกมล รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เปิดเผยว่า พพ.เตรียมพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยใน "โครงการเงินหมุนเวียนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานโดยสถาบันการเงิน"ให้ต่ำกว่าปัจจุบัน 3.5% เพื่อจูงใจให้กลุ่มโรงงานอุตสหกรรมเข้าร่วมโครงการประหยัดพลังงานมากขึ้น
เนื่องจากขณะนี้ผู้ประกอบการโรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม( SME) หันไปกู้เงินจากธนาคารต่างๆ แทนที่จะกู้ผ่านกองทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เนื่องจากมีอัตราดอกเบี้ยเพียง 3% ประกอบกับหลักเกณฑ์และเอกสารการกู้ทำได้สะดวก แต่การกู้ดังกล่าวไม่ได้เน้นที่การประหยัดพลังงาน เป็นเพียงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมากกว่า จึงไม่สามารถเก็บผลการประหยัดพลังงานเป็นสถิติให้กับหน่วยงานรัฐได้
ดังนั้น พพ.จึงต้องพิจารณาปรับหลักเกณฑ์การกู้และอัตราดอกเบี้ยให้จูงใจมากขึ้น เพราะในปี 2560 นี้ ยังเหลืองบจาก "โครงการเงินหมุนเวียนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานโดยสถาบันการเงิน" อีก 800 ล้านบาท จากทั้งหมด 1,800 ล้านบาท ซึ่งช่วงแรกของการเปิดโครงการมีผู้ประกอบการรายใหญ่ให้ความสนใจขอกู้ไปแล้ว 1,000 ล้านบาท แต่อีก 800 ล้านบาท เริ่มไม่มีการขอกู้ เพราะผู้ประกอบการรายเล็กไปกู้ธนาคารแทน
อย่างไรก็ตามเบื้องต้น พพ.เตรียมเจรจากับสถาบันการเงินของรัฐว่าสามารถยอมรับการปรับลดดอกเบี้ยได้ต่ำสุดเท่าไหร่ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยจะถือเป็นค่าบริหารจัดการของธนาคารรัฐที่ช่วยนำเงินกองทุนเพื่อการอนุรักษ์ไปปล่อยกู้ตามโครงการดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปใน 1-2 เดือนนี้
ทั้งนี้หาก พพ.สามารถปล่อยกู้ได้ครบ 1,800 ล้านบาท จะช่วยให้เกิดการลดใช้พลังงานได้ 700 ล้านหน่วย หรือ 0.7 เมกะวัตต์ และคาดว่าผู้ประกอบการที่จะร่วมโครงการฯเพื่อขอกู้เงินที่เหลือ 800 ล้านบาท ส่วนใหญ่สนใจจะนำไปติดตั้งโซล่าร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าบนหลังคา(โซล่าร์รูฟท็อป) เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองเป็นส่วนใหญ่ เพราะคุ้มค่ากับการประหยัดไฟฟ้าระยะยาว แต่มีข้อกำหนดให้กู้ได้ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อราย