วิถีกะเหรี่ยงดั้งเดิมเที่ยวสังขละบุรี แดนตะวันตก เมืองประวัติศาสตร์ ที่มีมนต์ขลังมายาวนาน คนในพื้นที่หลากหลายวัฒนธรรม 5 สัญชาติ กะเหรี่ยง มอญ ลาว พม่า อิสลาม อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขช่วยเหลือเกื้อกูลวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ขอเชิญนักท่องเที่ยวมาร่วมทอดผ้าป่าสร้างพระประธานองค์ใหญ่ อุทยานพระแก้วขาว เครื่องยึดเหนี่ยวบำรุงพระพุทธศาสนา ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2565 ณ วัดศรีสุวรรณคีรี พิธีการดั้งเดิม ชมการแสดงพื้นบ้าน ประวัติศาตเมืองสังขละบุรี ในอดีตที่ไม่มีแผนที่ทางรถในประเทศ
วันนี้ 11 ก.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศตามวัดต่างๆ เริ่มมีหน่วยงานราชการ รวมถึงประชาชน นำเทียนจำนำพรรษา ไปมอบให้กับวัดต่างๆ ซึ่งต่างกับในเทศกาลเข้าพรรษาที่ผ่านมาไม่เกิดสถานการณ์โควิด – 19 จะมีกิจกรรมสืบสานประเพณีในแต่ละอำเภออย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งเทศกาลเข้าพรรษาเป็นเวลา 3 ปี แล้วที่แต่ละท้องที่ไม่มีกิจกรรมเข้าพรรษา คงมีเพียงนำเทียนจำนำพรรษา ไปมอบแก่วัดนั้นๆ ของแต่ละท้องถิ่นเท่านั้น
สำหรับชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงสังขละบุรี จะนับถือองค์พระแก้ว ซึ่งถือเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองสังขละบุรี โดยมีประวัติความเป็นมาอันแท้จริงคือ พระพุทธรัตนสังขละบุรี พระศรีสุวรรณ เจ้าเมืองของคนกะเหรี่ยงในสมัยก่อนนั้น ได้มีหนังสือจารึกไว้บางส่วน จึงมักจะบันทึกเรื่องราวของพวกเขาไว้ในรูปของตำนาน การบอกเล่า เท่าที่ยังจำความได้ มีเรื่องเล่าให้ฟังว่า “พระแก้ว” นี้ได้รับพระราชทานมาจากพระมหากษัตริย์เมืองสยาม ไว้เป็นพระแก้วคู่บ้าน คู่เมืองสังขละบุรี พระแก้วนี้มีอยู่ 3 องค์ (สามพี่น้อง) โดยประดิษฐานไว้ที่เมืองหน้าด่านทาง ทิศตะวันตก 1 องค์ ( ณ เมืองสังขละบุรี ) ประดิษฐานไว้ที่เมืองหน้าด่านทิศตะวันออก 1องค์ ( ที่อีสาน ) ประดิษฐานไว้ที่เมืองหน้าด่านทางทิศเหนืออีก 1 องค์ แสดงว่าพระแก้วองค์นี้ ต้องมีประวัติศาสตร์ ที่มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของอีสาน หรือเหนือเป็นแน่ สำหรับพระจะมี 3 องค์ พอจะหาข้อสันนิษฐาน และนำมาประกอบเป็นเรื่องราวได้ ดังนี้ ( วิจารณญาณส่วนบุคคล )
ข้อสันนิษฐานตามตำนานของกะเหรี่ยงเมืองสังขละบุรี เล่ากันมาว่า ได้รับพระราชทานมาจาก องค์เหนือหัวรัชกาลที่ 3 เมื่อครั้งที่มีการตั้งเมืองสังขละบุรี ที่บ้านสะนิพุ่ง ( เสน่ห์พ่อง หรือเมืองพระสุวรรณ์ ) โดยพระองค์ทรงพระราชทานให้แก่พระศรีสุวรรณคีรี ที่ 1 ภูวะโพ่ ครั้งที่ลงไปถวายเครื่องราชบรรณาการ และถือนํ้าพิพัฒน์สัตยาที่กรุงเทพฯ. หรือครั้งที่มีพระราชพิธีตั้งหลักเมืองกาญจนบุรี หรืออีกตำนานหนึ่ง อาจเมื่อครั้งที่เมืองสังขละบุรี โดยพระศรีสุวรรณคีรี ที่ 1 ภูวะโพ่ ได้น้อมเกล้าฯ ถวายช้างเผือก แด่องค์เหนือหัวรัชกาลที่ 3 และพระแก้วฯ นี้ ยังส่งผลให้คนกะเหรี่ยงเมืองสังขละบุรี ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเกณฑ์เป็นทหาร หรือไพร่สงคราม
สำหรับตำนานเรื่องเล่าการถวายช้างเผือกแห่งเมืองสังขละบุรีนั้น มีเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมาในตำบลไล่โว่ว่า ที่บ้านทิไลปา ช้างของชาวบ้านได้ตกลูกออกมาเป็นช้างเผือก 1เชือก เป็นช้างเผือกที่มีลักษณะสง่างามมาก ชาวบ้านได้ซ่อนช้างเผือกเอาในป่า และเอาดินดำมาทาพอกไว้เพื่อไม่ให้หัวขโมยรู้ โดยนำความมาเรียน พระศรีสุวรรณคีรี เมื่อพระศรีสุวรรณคีรีได้ทราบ จึงได้นำความไปกราบทูลเกล้าฯ พระเจ้าแผ่นดินสยาม(ไทย) อีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงนำช้างเผือกใส่แพลงไปทูลเกล้าฯ ถวายที่กรุงเทพ ฯ พระเจ้าแผ่นดินสยาม(ไทย) จึงทรงตรัสถามว่า ชาวบ้านต้องการอะไรเป็นข้อแลกเปลี่ยน พระศรีสุวรรณคีรี จึงทูลตอบไปว่า ชาวบ้านไม่ต้องการอะไรข้อแลกเปลี่ยน พระองค์จึงทรงตรัสว่า ถ้าไม่มีข้อแลกเปลี่ยน พระองค์ก็จะไม่ทรงรับช้างเผือกของเมืองสังขละบุรี
ดังนั้น พระศรีสุวรรณคีรี จึงได้ทูลเกล้าฯ ขอไป คือ ขอให้คนกะเหรี่ยงเมืองสังขละบุรีไม่ต้องถูกเกณฑ์เป็นไพร่ทหาร หรือตกเป็นทาส พระองค์จึงทรงมีพระบรมราชโองการให้คนกระเหรี่ยงเมืองสังขละบุรี ได้รับการยกเว้นการเกณฑ์ทหาร และไม่มีฐานะเป็นทาส นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และยังทรงพระราชทานพระแก้วขาวองค์หนึ่ง เพื่อเป็นพระแก้วคู่บ้านคู่เมืองของ เมืองสังขละบุรี อีกด้วยซึ่งก็คือ พระพุทธรัตนสังขละบุรี ศรีสุวรรณ
ทีมข่าวกาญจนบุรี