นายนรินทร์ กัลยาณมิตร ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (บอร์ด กนอ.) เปิดเผยหลังลงพื้นที่พบนักลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสงขลา อ.สะเดา และโครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) ในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ว่า จากการรับฟังปัญหาของนักลงทุน ส่วนใหญ่ยังคงมีความเป็นห่วงเรื่องของระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้าไม่เพียงพอ ดังนั้น กนอ. จึงเริ่มศึกษาแผนการลงทุนโรงไฟฟ้าจากโซล่าร์เซล์ โซล่าร์รูฟท็อป โซล่าร์ลอยน้ำ เพื่อผลิตไฟใช้ภายในนิคมอุตสาหกรรม 25-30 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสรุปแนวทางความชัดเจนได้ภายใน 2-3 เดือน เพื่อดูว่าดีมานด์ซัพพลายเป็นอย่างไร และคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่
“เราต้องหาทางเลือกเรื่องไฟไว้หลายๆ แนวทาง เช่น เราลงทุนเองผ่านบริษัทลูก หรือให้เอกชนเป็นคนลงทุนแล้วขายไฟให้เรา อย่างที่ GPSC เคยศึกษาและสนใจที่จะทำ หรือแม้แต่ผู้ประกอบการที่ตั้งโรงงานในนิคมฯ ลงทุนเองด้วยการติดตั้งโซล่าร์รูฟท็อป ตรงนี้เขาก็จะได้สิทธิประโยชน์จากบีโอไอด้วยเช่นกัน ดังนั้นเราขอเวลาศึกษาอีก 2-3 เดือนก็จะชัดเจนว่ามันจะไปในทิศทางไหนที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งปัจจุบันความต้องการใช้ไฟในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ หากเต็มพื้นที่จะอยู่ที่ 70 เมกะวัตต์” นอกจากนี้ นักลงทุนยังมีความกังวลเรื่องของการขนส่งด้านโลจิสติกส์ การใช้ท่าเรือสงขลา สายเรือ ค่าระวาง จึงหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหาและแนวทางสนับสนุนให้มีความสะดวกกับนักลงทุนมากขึ้น
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ภาพรวมการลงทุนครึ่งปีหลัง 2565 ประเทศไทยยังเป็นที่สนใจของนักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนจากมาเลเซีย และประเทศอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างหาพื้นที่ลงทุนโดยเป้าหมายคือไทยและเวียดนาม เนื่องจากกังวลว่าในอนาคตมาเลเซียจะมีปัญหาเรื่องแรงงาน เนื่องจากขณะนี้มาเลเซียมีการปรับค่าจ้างแรงงาน ดังนั้นนี่จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะดึงดูดการลงทุนสร้างความน่าสนใจ ทั้งการเร่งพัฒนาพื้นที่ให้เสร็จสมบูรณ์ การเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค รวมถึงการจัดโปรโมชั่นส่วนลด ค่าเช่า เป็นต้น
เร็วๆ นี้ กนอ. เตรียมแผนเดินทางโรดโชว์ที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อพบนักลงทุนรายเดิมที่เคยลงทุนอยู่แล้วในประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานอย่าง เมติ เจโทร เพื่อชักจูงให้ขยายการลงทุนเพิ่มทั้งในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การแพทย์ ไบโอ พลังงานไฮโดรเจน เป็นต้น