สทนช.ระบุระดับน้ำโขงยังไม่ได้รับผลกระทบ หลังได้รับแจ้งเขื่อนน้ำเทิน 1 ในสปป.ลาว เกิดการรั่วซึมจากขั้นตอนการก่อสร้าง แต่ยังเฝ้าติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงกรณีมีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อออนไลน์ของ สปป.ลาว ได้มีการแจ้งเตือนประชาชนท้ายน้ำเขื่อนน้ำเทิน 1 สปป.ลาว เมืองปากกะดิ่ง แขวงบอลิคำไซ จากกรณีพบการรั่วซึมจากขั้นตอนการก่อสร้าง เบื้องต้น สทนช.ได้มีการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พบว่า การรั่วซึมของเขื่อนตามที่มีการนำเสนอข่าว เกิดจากกระบวนการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตบดอัด อาจมีน้ำไหลผ่านช่องเล็ก ๆ ของชั้นดินและชั้นหินด้านข้างตัวเขื่อน และไม่อยู่ในบริเวณที่เป็นโครงสร้างของเขื่อน ซึ่งเมื่อการก่อสร้างเสร็จสิ้นสมบูรณ์ จึงไม่มีผลต่อความมั่นคงของเขื่อนแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม เพื่อความไม่ประมาท สทนช.ได้มีการติดตามประเมินสถานการณ์น้ำโขงบริเวณที่ใกล้กับการระบายน้ำจากเขื่อนน้ำเทิน 1 ซึ่งคือบริเวณสถานีนครพนม จ.นครพนม ยังมีระดับน้ำปกติและมีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 5.77 เมตร การไหลของน้ำก็ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ แนวโน้มเพิ่มขึ้น 0.40 ม.ขณะเดียวกัน สทนช.ยังได้มีการประเมินผลกรณีเขื่อนน้ำเทิน 1 มีการระบายน้ำ ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำของแม่น้ำโขงบริเวณ จ.บึงกาฬ หนองคาย และนครพนม เนื่องจากสถานการณ์แม่น้ำโขงปัจจุบันบริเวณสถานีหนองคายและนครพนมยังมีระดับน้ำปกติและมีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งค่อนข้างมาก ขณะที่น้ำโขงสามารถรองรับการไหลของน้ำได้ถึง 27,000 ลบ.ม./วินาที แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันการตื่นตระหนกและข้อกังวลของประชาชนริมน้ำโขง สทนช.จะแจ้งข้อมูลสถานการณ์น้ำโขงไปยังจังหวัดริมน้ำโขงรับทราบโดยเร็วต่อไปด้วยเช่นกัน
สำหรับเขื่อนน้ำเทิน 1 ลักษณะของเขื่อนเป็นเขื่อนคอนกรีตบดอัด ความสูงเขื่อนประมาณ 197 เมตร ความจุเก็บกัก 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร กั้นแม่น้ำกะดิ่ง ห่างแม่น้ำโขงประมาณ 33 กิโลเมตร ซึ่งลักษณะการไหลเมื่อมีการระบายน้ำจากเขื่อนน้ำเทิน 1 จะไหลลงแม่น้ำกระดิ่งของ สปป.ลาว จากนั้นจะไหลลงแม่น้ำโขงบริเวณตรงข้ามกับจังหวัดบึงกาฬ ขณะนี้อยู่ระหว่างเก็บกักน้ำปีแรก และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ให้ประเทศไทย เดือน ส.ค.65