น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ประจำปีงบประมาณ 2566 รวมจำนวน 7,516 ล้านบาท พร้อมทั้งให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ กำหนดวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่าง ๆ ในการกู้เงิน โดยกระทรวงคมนาคมรายงานว่า ขสมก.ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากผลประกอบการที่ขาดทุนและไม่ได้รับเงินชดเชยผลการขาดทุนตามจำนวนที่เกิดขึ้นจริง
ทั้งนี้มีสาเหตุหลักมาจากการที่ ขสมก.เก็บค่าโดยสารตามอัตราที่ภาครัฐกำหนดซึ่งต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง และไม่สามารถปรับอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้นตามสภาวการณ์ปัจจุบันได้ จึงส่งผลให้มีผลขาดทุนจากการดำเนินงาน ภาระหนี้สินสะสม และดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน ขสมก.อยู่ระหว่างดำเนินการทบทวนร่างแผนฟื้นฟูกิจการขสมก.ฉบับปรับปรุงใหม่ ทำให้ขสมก.ยังคงมีหนี้สินค้างชำระรวมทั้งสิ้น 132,565 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ขสมก.ได้จัดทำประมาณการเงินสดรับ-จ่าย ในปีงบประมาณ 2566 คาดว่าจะมีเงินสดคงเหลือปลายงวดขาดมือจำนวน 42,640 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอที่จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ดั้งนั้นเพื่อให้เกิดสภาพคล่องทางการเงินและสามารถทำให้องค์กรบริหารจัดการต่อไปได้
ขสมก.จึงมีความจำเป็นต้องกู้เงินจำนวน 42,640 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งจะนำไปชำระคืนหนี้เงินกู้เดิมที่ครบกำหนดชำระและไถ่ถอนพันธบัตรเงินกู้ จำนวน 35,123 ล้านบาท ซึ่งได้นำเสนอสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เพื่อบรรจุเข้าแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 แล้ว จึงคงเหลือเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน และเป็นเงินสดหมุนเวียนในการดำเนินงานของขสมก.ในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 7,516 ล้านบาท เป็นการชำระค่าเชื้อเพลิงวงเงิน 2,250 ล้านบาท, ชำระค่าเหมาซ่อม 1,422 ล้านบาท และเสริมสภาพคล่องทางการเงิน 3,844 ล้านบาท
ขสมก. รายงานว่า การกู้เงินในครั้งนี้ จะทำให้สามารถประหยัดค่าดอกเบี้ยค้างชำระได้เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่กู้เงินที่ภาระดอกเบี้ยค่าเชื้อเพลิงอยู่ที่ 5.82% ต่อปี ค่าเหมาซ่อมอยู่ที่ 6.35% ต่อปี รวมเป็นดอกเบี้ยที่ต้องชำระ 221.27 ล้านบาทต่อปี แต่หากกู้เงินต้นทุนดอกเบี้ยจะปรับลดลงเหลือเฉลี่ย 1.098% ต่อปี รวมดอกเบี้ยที่ต้องชำระ 40.324 ล้านบาท หรือประหยัดดอกเบี้ยได้ 180.95 ล้านบาท