นายชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวว่า กฟน. ได้ดำเนินการโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง และช่วยปรับทัศนียภาพของกรุงเทพมหานครให้สวยงาม มีความปลอดภัยและพร้อมสู่การเป็นมหานครแห่งอาเซียน ซึ่งการร่วมลงนามในครั้งนี้นับเป็นการแสดงเจตจำนงระหว่าง กฟน. และบริษัทผู้รับจ้างในการดำเนินการก่อสร้างงานด้านโยธา จัดหาพร้อมติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าและสายไฟฟ้าใต้ดินโครงการพระราม 3 ระยะที่ 1 ช่วงสะพานพระราม 9 ถึงบริเวณเลียบทางพิเศษเฉลิมมหานคร โดยมีมูลค่าโครงการทั้งสิ้น 1,520 ล้านบาท และภายหลังจากการดำเนินโครงการฯ ครั้งนี้ กฟน. ยังมีแผนดำเนินการโครงการพระราม 3 ระยะที่ 2 คือ การก่อสร้างส่วนต่อขยายจากช่วงสะพานพระราม 9 ถึงบริเวณสะพานกรุงเทพ ซึ่งทั้งหมดถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ ครม. มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2560 อนุมัติวงเงินลงทุนเพิ่ม 3 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการปทุมวัน จิตรลดา พญาไท (เพิ่มเติม) 2) โครงการนนทรี และ 3) โครงการพระราม 3 เนื่องจากเป็นพื้นที่ ที่มีแนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กฟน. ได้ดำเนินการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินเสร็จสิ้นแล้วทั้งหมด จำนวน 7 โครงการ ได้แก่ โครงการสีลม โครงการปทุมวัน โครงการจิตรลดา โครงพญาไท โครงการพหลโยธิน โครงการสุขุมวิท และโครงการปทุมวัน จิตรลดา และพญาไท (เพิ่มเติม) ในถนนราชวิถี รวมระยะทาง 41.9 กิโลเมตร ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ได้แก่ โครงการปทุมวัน จิตรลดา และพญาไท (เพิ่มเติม) ในถนนศรีอยุธยา ถนนโยธี ถนนเพชรบุรี ถนนราชปรารภ และถนนพระรามที่ 1 โครงการนนทรี โครงการพระราม 3 โครงการรัชดาภิเษก – พระราม 9 และโครงการรัชดาภิเษก - อโศก รวมระยะทาง 45.4 กิโลเมตร และโครงการมหานคร-แห่งอาเซียน เป็นระยะทาง 127.3 กิโลเมตร รวมเป็นระยะทางทั้งสิ้น 214.6 กิโลเมตร ซึ่ง กฟน.จะบูรณาการแผนงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อลดปัญหาที่ประชาชนจะได้รับ เช่น การปรับแผนการดำเนินโครงการในพื้นที่ที่ทับซ้อนกับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) การประปานครหลวง (กปน.) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (TOT) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (CAT) เพื่อให้แผนดำเนินการมีความสอดคล้อง และลดปัญหาที่ประชาชนจะได้รับอันเนื่องจากการก่อสร้าง ตลอดจนการประสานงานกับ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการติดตามแผนงานนำสายสื่อสารของผู้ประกอบการทั้งหมดลงดินได้ทั้งหมดอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ กฟน. ได้มีการวางแผนการบริหารจัดการจราจรร่วมกับหน่วยงานที่เป็นเจ้าของพื้นที่ เช่น กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อบริหารจัดการการปิดพื้นที่เพื่อเร่งรัดการทำงานให้เสร็จโดยเร็ว ทั้งนี้ เพื่อจะได้บริหารจัดการการจราจรให้สอดคล้องและส่งผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด ซึ่ง กฟน. ได้มีการจัดทำแผนงานประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนรับทราบความคืบหน้าของการดำเนินโครงการตลอดระยะเวลาดำเนินการ โดยจะมีการลงพื้นที่เพื่อให้ข้อมูลของแผนงานกับประชาชนในพื้นที่ที่จะดำเนินการก่อสร้างหรือใกล้เคียงให้ได้รับทราบก่อนดำเนินการก่อสร้าง