ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
แถลงข่าวภารกิจฟื้นฟูการศึกษา ราชบุรี Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน
23 ก.ค. 2565

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ จังหวัดราชบุรี แถลงข่าวภารกิจฟื้นฟูการศึกษา รุกหน้าโครงการ  Zero Dropout   เด็กทุกคนต้องได้เรียน มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยให้เด็กหลุดจากการศึกษาเป็นศูนย์ ใน 3 ปี กับ “ราชบุรีโมเดล” จังหวัดต้นแบบ     

ที่โรงเรียนวัดดอนตะโก ตำบลดอนตะโก อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี นายอังกูร ศีลาเทวากูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี พร้อมด้วย ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และนายเศรษฐา ทวีสิน ผู้สนับสนุนการดำเนินงานเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับเด็กไทย ร่วมแถลงข่าวภารกิจฟื้นฟูการศึกษา รุกหน้าโครงการ  Zero Dropout  เด็กทุกคนต้องได้เรียน มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยให้เด็กหลุดจากการศึกษาเป็นศูนย์ ใน 3 ปี กับ “ราชบุรีโมเดล” จังหวัดต้นแบบ  เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2565 มีนายยรรยงค์ เจริญศรี  ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 นายวสันต์ กลิ่นสุคนธ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนตะโก คณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระดับจังหวัด  คณะทำงานในพื้นที่  คณะครู นักเรียน ผู้ปกครอง ตลอดจนสื่อมวลชน ร่วมแถลงข่าว  
 
จากการพิจารณาคัดเลือกจังหวัดราชบุรี เป็นพื้นที่นำร่องโครงการ Zero Dropout  เด็กทุกคนต้องได้เรียน เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา การพัฒนาออกแบบกลไก และนวัตกรรมการศึกษาในการช่วยเหลือดูแลเด็ก และเยาวชน ในจังหวัดราชบุรี ที่มีความเสี่ยง และเด็กที่หลุดนอกระบบการศึกษาต้องเป็นศูนย์ ภายใน 3 ปี และสามารถดูแลช่วยเหลือให้จำนวนเด็กนอกระบบเป็นศูนย์ ต่อไปได้ในระยะยาว   ทั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน ที่เห็นความสำคัญในด้านการศึกษา ร่วมสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 100 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานตามโครงการฯ โดยตั้งเป้าหมายลดจำนวนเด็กในช่วงวัยภาคบังคับ (ป.1-ม.3 ) ในจังหวัดราชบุรี ที่หลุดออกจากระบบการศึกษาให้เหลือศูนย์ ด้วยการช่วยเหลือทั้งตัวเด็กเอง รวมทั้งช่วยสร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้  
 
สำหรับโครงการที่ดำเนินการจัดขึ้น จะเป็นแรงกระตุ้นให้คนไทย ภาครัฐ เอกชน มีส่วนช่วยเหลือเด็กทั้งประเทศไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา พร้อมสร้างรากฐานสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้า และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องความเสมอภาค เพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้กับประเทศ ทั้งนี้ ยังมีการเปิดตัว “3 พลังอาสา จังหวัดราชบุรี” จากการรวมพลัง 3 กลไกท้องถิ่น คือ อาสาสมัครสาธารณสุขระดับหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) และอาสาสมัครการศึกษา (อสศ.) เพื่อฟื้นฟูเด็กในทุกมิติ ครั้งแรกของไทย ที่มุ่งดูแลและฟื้นฟูเด็กที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา และทำงานครอบคลุมทุกมิติ  ตั้งแต่สุขภาพกาย-ใจ การคุ้มครองทางสังคม และโอกาสทางการศึกษา ซึ่งการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และกลไกท้องถิ่นครั้งนี้ นับเป็นวัตกรรมกลไกอาสาสมัคร เพื่อลดความเลื่อมล้ำทางการศึกษา แบบ 3 in 1 ที่ริเริ่มที่จังหวัดราชบุรี เป็นจังหวัดแรกในเมืองไทย โดยเชื่อว่านวัตกรรม 3 พลังอาสา จังหวัดราชบุรี นี้ จะเป็นโมเดลต้นแบบที่จังหวัดอื่น ในประเทศ สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อขยายผลการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้ครอบคลุมทั่วประเทศได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย 
 
โดยในช่วงเปิดเทอมปีการศึกษาที่ 1/2565 ที่ผ่านมา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  ได้เข้าช่วยเหลือเด็กนักเรียนกลุ่มช่วงชั้นรอยต่อระดับประถมศึกษาที่ 6 และระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในจังหวัดราชบุรี ที่มีความเสี่ยงในการหลุดออกจากระบบการศึกษา จากผลกระทบทางเศรษฐกิจ และจากสถานการณ์โควิด-19 รวมมากกว่า 700 คน ผ่านการมอบทุนการศึกษารวมมูลค่า 1,100,000 บาท ภายใต้โครงการ Zero Dropout  เด็กทุกคนต้องได้เรียน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาให้กับเด็กและครอบครัว การป้องกันหลุดออกจากระบบการศึกษาด้วยมาตรการเชิงป้องกันที่ต้นทาง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในมาตรการสู่เป้าหมาย   Zero Dropout  ที่มีประสิทธิภาพสูงและยั่งยืน ที่ กสศ. เตรียมขยายผลสู่การดำเนินการระดับประเทศอย่างเป็นระบบต่อไปในอนาคต

ทีมข่าว จ.ราชบุรี

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...