สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี สร้างความรู้ความเข้าใจ เรื่อง กัญชาทางการแพทย์ช่วยดูแลควบคุมอาการได้หลายโรค มีมาตรฐานการใช้เพื่อความปลอดภัย เกิดประโยชน์สูงสุด
วันที่ 22 ก.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายแพทย์ชาติชาย กิติยานันท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันกัญชาทางการแพทย์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีข้อมูลชัดเจนว่า กัญชาและสารสกัดจากกัญชามีประโยชน์ สามารถนำมาใช้ในการดูแลสุขภาพ บำบัดรักษา บรรเทาอาการของผู้ป่วยได้จริง โดยต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือแพทย์แผนไทยในสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตให้เปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์ จึงไม่มีผลกระทบที่เป็นอันตราย ทั้งนี้ การใช้กัญชาทางการแพทย์แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วยชัดเจน ได้แก่ การดูแลภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากการรับเคมีบำบัด, โรคลมชักที่รักษายากและโรคลมชักที่ดื้อต่อการรักษา, ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง ผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง, ภาวะปวดประสาท ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วยเอดส์ที่มีน้ำหนักตัวน้อย รวมถึงเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง ส่วนกลุ่มที่ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์น่าจะได้ประโยชน์ หรือใช้ในลักษณะของการควบคุมอาการ มี 4 โรค ได้แก่ โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรควิตกกังวลทั่วไป และโรคปลอกประสาทอักเสบ สำหรับกลุ่มที่อาจจะมีประโยชน์ในอนาคต คือ การใช้ดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาวิจัยเพื่อให้มีข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้น
นายแพทย์ชาติชาย กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนการใช้กัญชาทางการแพทย์และเพื่อสุขภาพ ไม่สนับสนุนการใช้ที่ไม่เหมาะสม เช่น การสูบ การเสพ และสันทนาการ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัย การใช้กัญชาทางการแพทย์ในการดูแลรักษาผู้ป่วย เป็นการใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น โดยมีการออกข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม หรือป้องกันการเข้าถึงในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กและเยาวชน สตรีมีครรภ์และให้นมบุตร รวมทั้งจัดระบบติดตามเฝ้าระวังทั้งในส่วนของโรงพยาบาล คือ พิษจากกัญชาและปัญหาจิตประสาท และการเฝ้าระวังในชุมชน
“กระทรวงสาธารณสุขส่งเสริมให้ประชาชนใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพอย่างถูกต้องเหมาะสม โดยสื่อสาร สร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชน ให้ทำความเข้าใจผลดีผลเสียการใช้กัญชาทั้งในคนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยง แม้กัญชาจะไม่ใช่ยาเสพติด แต่มีสารออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ดังนั้นควรใช้อย่างเหมาะสม โดยทางการแพทย์ จะมีคลินิกกัญชาทางการแพทย์ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยยากัญชา ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย ซึ่งหากใช้ภายใต้การดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพจะมีความปลอดภัย บุคลากรทางการแพทย์จะต้องผ่านการอบรมและได้รับใบอนุญาตในการจ่ายยากัญชา โดยกรมการแพทย์ได้มีการจัดทำคำแนะนำการใช้กัญชาทางการแพทย์เพื่อเป็นแนวทางมาตรฐานในการใช้กัญชาดูแลผู้ป่วยอย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์มากที่สุด สำหรับจังหวัดกาญจนบุรี มีทั้งหมด 13 อำเภอ มีโรงพยาบาลทั้งหมด 16 แห่ง แบ่งเป็น โรงพยาบาลทั่วไป 2 แห่ง และ โรงพยาบาลชุมชน 14 แห่ง (คิดเป็นร้อยละ 87.5) จำนวนคลินิกการให้บริการกัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย มีทั้งหมด 14 แห่ง วางแผนจะเปิดคลินิกกัญชาเพิ่ม อีก 2 แห่งในต้นปีงบประมาณ 2566 ได้แก่ โรงพยาบาลศุกร์ศิริ ศรีสวัสดิ์ และโรงพยาบาลพยาบาลสถานพระบารมี เนื่องจากอยู่ระหว่างการจัดซื้อยาและยังไม่มีอาคารสถานที่ในการให้บริการ มียากัญชาบริการ 2 ประเภท คือ สารสกัดกัญชา 2 รายการ และตำรับยาสมุนไพร 4 รายการ ได้แก่ ยาตำรับศุขไสยาศน์ , ยาทำลายพระสุเมร , น้ำมันกัญชาทั้งรับประทาน/ใช้ภายนอก และน้ำมันกัญชา สูตรอาจารย์เดชา” นายแพทย์ชาติชาย กล่าวในที่สุด
ทีมข่าวกาญจนบุรี